แนวทางการสนับสนุนการนำไฮโดรเจนไปใช้ภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ ในระยะสั้น (ค.ศ. 2023 – 2030) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สอดคล้องตาม 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาตลาดและสร้างจูงใจให้กับผู้ใช้
- ศึกษาวิเคราะห์ราคาต้นทุน ราคาขายส่ง และราคาขายปลีก เพื่อให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งได้แก่ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้ประโยชน์ รวมถึงมาตรการอุดหนุนราคาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งราคาถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน และการตัดสินใจที่จะประยุกต์ใช้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์
- ส่งเสริมการลงทุนเชิงพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
- ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV)
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม
- กำหนดมาตรฐานคุณภาพก๊าซธรรมชาติที่ผสมไฮโดรเจนสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
- วิเคราะห์ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการจัดหา และกระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจน เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงาน และเทียบกับของต่างประเทศ รวมถึงระบบการจัดส่งและการจำหน่ายก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งมีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เป็นต้น
- ทดสอบและจัดทำแนวทางการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และเครื่องจักร รองรับการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- สนับสนุนผู้ประกอบการในช่วงเริ่มต้นที่ต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์
- กำหนดโครงสร้างราคาที่ให้ส่วนลดกับเชื้อเพลิงที่มีค่า carbon footprint ต่ำและให้ส่วนเพิ่มกับเชื้อเพลิงที่มีค่า carbon footprint สูง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน
- จัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติก๊าซธรรมชาติที่ผสมไฮโดรเจนสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
- จัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการขนส่งไฮโดรเจนทางท่อ
- พัฒนามาตรฐานด้านวิศวกรรม ความปลอดภัย และคุณภาพบริการ
- พัฒนาระบบติดตามและประเมินผล
- จัดทำมาตรฐานและกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยของสถานที่ใช้ไฮโดรเจน
ที่มา : โครงการจัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ภาคพลังงาน
สนับสนุนโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
งานวิจัยร่วมระหว่างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่