การสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจนในภาคขนส่งควรมีการดำเนินทางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านการผลิตไฮโดรเจน โครงการพื้นฐานเพื่อการขนส่งและจัดเก็บ และการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) โดยแนวทางการสนับสนุนการนำไฮโดรเจนไปใช้ภาคขนส่งในระยะสั้น (ค.ศ. 2023 – 2030) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สอดคล้องตาม 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาตลาดและสร้างจูงใจให้กับผู้ใช้
- สร้างตลาดสำหรับเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้เกิดการใช้งานไฮโดรเจนในวงกว้าง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ไฮโดรเจน เช่น การสนับสนุนด้านราคาของรถยนต์ FCEV เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์ FCEV ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูง การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีนี้ย่อมทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
- สร้างความมั่นใจและแสดงให้เห็นถึงประโยชน์และประเด็นปัญหาอุปสรรคของการใช้งานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้อย่างชัดเจน
- มีโครงการนำร่องเพื่อสาธิตการใช้เทคโนโลยียานยนต์ FCEV ในรูปแบบต่างๆ จะทำให้เกิดเรียนรู้การใช้งานจริงสำหรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับภาคขนส่งในประเทศ เพื่อให้เห็นการใช้งานเทคโนโลยีตั้งแต่การผลิตจนถึงการใช้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม
- ศึกษาผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้งานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคขนส่ง ทั้งด้านของพลังงานทางเลือกและการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
- พัฒนารูปแบบธุรกิจที่จะมาช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มจากกลไกสะอาด
- การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศบางส่วนที่สามารถพัฒนาขึ้นในประเทศเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- สนับสนุนผู้ประกอบการในช่วงเริ่มต้นที่ต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้กับผู้ใช้งาน เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้งานว่าจะมีไฮโดรเจนได้เพียงพอในราคาที่เหมาะสม เช่น มาตรการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดต้นทุนและสร้างแรงจูงใจให้มีบริษัทเอกชนลงทุนในช่วงเริ่มต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน
- จัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติไฮโดรเจนสำหรับภาคขนส่ง
- จัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับการขนส่งไฮโดรเจนทางรถ
- จัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ FCEV และสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคขนส่ง
ที่มา : โครงการจัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ภาคพลังงาน
สนับสนุนโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
งานวิจัยร่วมระหว่างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่