วัสดุเหลือทิ้ง สู่พลังงานสะอาด – การผลิตถ่านชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
เปลี่ยนของไร้ค่าให้เป็นมูลค่าที่คุ้มค่า ทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
โครงการต้นแบบการผลิตถ่านชีวภาพ จากเตาเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรูประสิทธิภาพสูง เพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นอกจากนี้ทางสถาบันฯยังได้ดำเนินงานร่วมกับบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF บริษัทเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยเช่นกัน
ในยุคที่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่เคยถูกมองว่าไร้ค่า กลับกลายเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ โครงการผลิตถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชนในเวลาเดียวกัน
ที่มา: วัสดุเหลือทิ้ง กับปัญหาเรื้อรัง
วัสดุเหลือทิ้ง เช่น ฟางข้าว ชั่งข้าวโพด หรือเศษพืชผล ถูกทิ้งอย่างไร้ค่าในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ การเผาทิ้งในที่โล่งหรือการปล่อยทิ้งไว้นำมาซึ่งปัญหามลพิษ ก๊าซเรือนกระจก (CO₂) และฝุ่นละอองที่กระทบทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน การใช้วัสดุเหล่านี้เพื่อพลังงานสะอาดยังมีข้อจำกัดเพราะเทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวย
โครงการนี้จึงมุ่งพัฒนา “เตาเผาถ่านชีวภาพประสิทธิภาพสูง” ที่สามารถใช้งานได้จริงในทุกพื้นที่เกษตรกรรม เปลี่ยนสิ่งที่เคยไร้ค่าให้กลายเป็นพลังงานสะอาดและแหล่งรายได้ใหม่สำหรับเกษตรกร
เป้าหมาย: พลังงานสะอาดเพื่อทุกคน
- เทคโนโลยีเพื่อชุมชน
พัฒนาเตาเผาถ่านชีวภาพที่ใช้งานง่าย ทนทาน และเหมาะสมกับการใช้งานของเกษตรกรรายย่อย - สร้างพลังงานสะอาด
ผลิตถ่านชีวภาพที่สามารถใช้แทนพลังงานฟอสซิล ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม - ลดก๊าซเรือนกระจก
ผลักดันการลดการปล่อยก๊าซ CO₂ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เป็นรูปธรรม
ต้นแบบผลิตภัณฑ์ 4 รูปแบบจากเตาเผาถ่านชีวภาพ
เตาเผาถ่านชีวภาพต้นแบบ ถูกออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานจริงในพื้นที่ชนบท ใช้วัสดุเหลือทิ้งหรือเชื้อเพลิงหลากหลาย เช่น น้ำมันพืชใช้แล้ว หรือเศษวัสดุการเกษตร ขนาดความจุ 350 ลิตร พร้อมระบบควบคุมอุณหภูมิสูงถึง 700±50°C ทำให้การผลิตถ่านชีวภาพสะอาด ปลอดภัย และปล่อยควันพิษน้อย
เตาเผาถ่านชีวภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นในโครงการนี้มีทั้งหมด 4 รุ่นต้นแบบ ซึ่งออกแบบมาให้เหมาะกับวัสดุและเชื้อเพลิงที่หลากหลาย รวมถึงสามารถรองรับความต้องการในพื้นที่เกษตรกรรมที่แตกต่างกัน
สร้างมูลค่าใหม่จากวัสดุเหลือทิ้ง – เปลี่ยนเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน
มูลค่าเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น: 297,000 บาทต่อปี
จากรายได้ในการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ( ซังข้าวโพด) จำนวน 19.71 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 295,650 บาทต่อปี (คิดตันละ 15,000 บาท)มาผ่านกระบวนการผลิตถ่านชีวภาพ โดยใช้ชุดเตาผลิตถ่านชีวภาพ 4 ชุดนี่เป็นตัวอย่างของการพลิกฟื้นทรัพยากรที่เคยถูกมองข้าม ให้กลายเป็นรายได้ที่จับต้องได้และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาต่อไป
ลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง: 51.89 ตัน CO₂ ต่อปี
จากปริมาณน้ำหนักแห้งของวัสดุทางการเกษตรที่ถูกนำไปเผา 657,000 กก./ปี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม 58 kWh/ปี ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมขนส่ง 80 กม. เท่ากับ 135 ลิตร/ปี ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (กรณีฐาน) เท่ากับ 61,856.55 kgCO2 eq ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการเท่ากับ 9,967.96 kgCO2 eq)
มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน
โครงการผลิตถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร คือหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ที่นอกจากช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรแล้ว ยังลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เป็นก้าวสำคัญสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้