มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แบบ Quick Charge ที่แรกในจังหวัดเชียงใหม่ หวังก้าวสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะและพลังงานสะอาด
วันนี้ (2 ส.ค.61) เวลา 10.30 น. ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย พลอากาศเอกอำพล อิ่มบัว ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพอากาศและประธานกรรมการพลังงานทดแทนกองทัพอากาศ และ ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเปิดสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า จากพลังงานโซลาร์เซลล์แบบ Quick Charge แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกองทัพอากาศ ในฐานะ Partner โครงการ CMU Smart City / RTAF Smart Wing ซึ่งได้จัดให้มีพิธีบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างกองทัพอากาศ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านการบริหารจัดการระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการจราจรและขนส่งมวลชน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัย ครอบคลุมถึงระบบรถไฟฟ้าและการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้า โดยมีนโยบายในการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ด้วยการจัดบริการรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จำนวน 60 คัน คันละ 12 ที่นั่ง ออกวิ่งรับผู้โดยสาร วนรอบมหาวิทยาลัยทั้งหมด 5 สาย ทุกวันไม่เว้นวันหยุด คิดเป็นระยะทาง 6,660 กิโลเมตรต่อวัน หรือ 2,023,400 กิโลเมตรต่อปี รองรับผู้โดยสารได้จำนวนสูงสุด 16,700 ต่อวัน หรือ 5,097,024 คนต่อปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้มากถึง 3,034 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อวัน หรือ 601,500 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในรถยนต์ และหันมาให้ความสำคัญการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยการจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์แบบเดิมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดีและพัฒนาสู่ความเป็นสากลตามยุทธศาสตร์ Green and Clean; Sustainability University มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ด้าน ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จากพลังงานโซลาร์เซลล์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกออกแบบและติดตั้งให้สามารถรองรับรองรับยานยนต์ได้ทั้งรถแบบ Hybrid ที่มีการใช้ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 100% โดยมีหัวอัดประจุดแบบปกติ (Normal Charge และ Quick Charge) เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานยุโรปและญี่ปุ่น ใช้เวลาในการชาร์จแต่ละครั้งประมาณ 30 – 40 นาที ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าที่นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 5 ที่นั่ง จะวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 150 กิโลเมตรต่อครั้ง นับเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสีเขียวที่สำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้ต่อยอดความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ CMU Smart City-Clean Energy มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน