แผนการส่งเสริมไฮโดรเจนสำหรับประเทศไทย
ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญสำหรับการลดการปล่อยเรือนกระจกระยะยาว และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) อย่างไรก็ดี ระหว่างทางที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าว หลายประเทศก็เริ่มมีมาตรการที่จะสนับสนุนให้เกิดการใช้สินค้าและบริการ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนสำหรับภาคพลังงานในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วิสัยทัศน์ และเป้าหมายการพัฒนาไฮโดรเจนของไทยในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ “ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถเริ่มมีการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2030 และเติบโตอย่างยั่งยืนจนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050”
ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายเป็นยุทธศาสตร์ 4 ด้านประกอบไปด้วย (1) พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ (2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม (3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ (4) ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน ซึ่งการดำเนินการการพัฒนาไฮโดรเจนของไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะสั้น (ค.ศ. 2020-2030) เป็นระยะเตรียมความพร้อม โดยจะมีการดำเนินโครงการนำร่อง สนับสนุนเงินลงทุน ศึกษารูปแบบธุรกิจใหม่ จัดทำแผนรองรับการนำเข้า/ส่งออก มีการทดสอบ/ปรับปรุงระบบกักเก็บและขนส่ง และมีการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตและการใช้
- ระยะกลาง (ค.ศ. 2031-2040) จะเป็นการพัฒนาไฮโดรเจนในเชิงพาณิชย์ ในภาคพลังงาน โดยจะมีการใช้งานไฮโดรเจนผสม 10-20% ในระบบท่อ และ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV) มีการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ การให้แรงจูงใจทางด้านภาษี การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการส่งเสริมการลงทุน จัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า/ส่งออก มีการปรับปรุงระบบท่อ พัฒนาโครงข่ายการขนส่ง สร้างสถานี (มากกว่า 70 แห่ง ทั่วประเทศ) นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานของคุณภาพก๊าซธรรมชาติที่ผสมไฮโดรเจน และสถานีกักเก็บไฮโดรเจน
- ระยะยาว (ค.ศ. 2041-2050) จะเป็นการดำเนินการโดยมีเป้าหมายมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ Net-zero emission โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผสมไฮโดรเจน 25-75% ในระบบท่อ และ FCEV มีการกำหนดมูลค่าคาร์บอนในโครงสร้างและกลไกราคา พัฒนาแพลตฟอร์มตลาดและกลไกการซื้อขายคาร์บอน จัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า/ส่งออก สร้างโครงข่าย RE-power เพื่อรองรับ green H2 สร้างสถานี (มากกว่า 180 แห่งทั่วประเทศ) นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำกฎระเบียบและมาตรฐานของการขนส่ง และมาตรฐาน FCEV และ Refueling Station