จากการเพิ่มจำนวนนักศึกษาในแต่ละปีที่มากขึ้น ประกอบกับความจำเป็นของไขมันและน้ำมันในการประกอบอาหารของร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดของเสียจำพวกกากไขมันที่เป็นขยะหรือของเสียเหลือทิ้ง มักถูกชะล้างละลายออกมาปนเปื้อนอยู่กับน้ำเสีย หรือลอยอยู่ในน้ำทิ้ง โดยในปัจจุบันทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการของเสียเหล่านี้ ได้มีมาตรการให้ร้านอาหารทุกที่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะต้องมีบ่อดักไขมันก่อนปล่อยน้ำทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม
เนื่องจากอาจปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำผิวดิน ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมาได้ รวมทั้งกากไขมันที่ได้จากบ่อดักไขมัน หากไม่จัดการอย่างถูกหลักสุขาภิบาล อาจเป็นแหล่งก่อโรคที่สำคัญได้ ปัญหาที่พบในปัจจุบันของการจัดการกากไขมันซึ่งมีปริมาณวันละ 200 กิโลกรัม คือ รถเทศบาลไม่รับขนส่งไปยังหลุมฝังกลบ หากรับจะคิดค่าใช้จ่ายในการขนส่งค่อนข้างสูง จากการศึกษางานวิจัยต่างๆ ในการนำของเสียประเภทนี้มาใช้ประโยชน์ สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ การผลิตเป็นของใช้ทั่วไปในครัวเรือน เช่น เทียนไข สบู่ล้างมือ เป็นต้น การแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ การแปรรูปเป็นปุ๋ย และการแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน โดยนำกากไขมันมาผลิตเป็นน้ำมันชีวภาพภายใต้สภาวะความดันและอุณหภูมิสูง พบว่ามีค่าความร้อน 32,551.33 กิโลจูลต่อกิโลกรัม โดยมีค่าใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซิน ด้วยลักษณะสมบัติของกากไขมันที่มีโมเลกุลประกอบด้วยสารอินทรีย์โซ่ยาว มีปริมาณคาร์บอนสูง จึงมีนักวิจัยสนใจนำมาย่อยสลายด้วยกระบวนการหมักแบบไร้อากาศ เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซมีเทน ได้ถึง 178% และ 317%
แนวทางหรือรูปแบบการจัดการกากไขมันด้วยการผลิตไบโอดีเซล
แนวทางการจัดการกากไขมันด้วยการผลิตไบโอดีเซล โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียค่ากำจัดกากไขมันแบบเหมาจ่ายเป็นรายปี ให้ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. โดยตรง โดยให้ทางสถาบันวิจัยฯ ดำเนินการเก็บและขนส่งวัตถุดิบเอง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมกากไขมันไว้ ณ จุดเก็บ เพื่อนำกากไขมันแต่ละวันมาเตรียมวัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอดีเซล ซึ่งไบโอดีเซลที่ผลิตได้ทางสถาบันฯ จะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากที่สุด
รูปแนวทางการจัดการกากไขมันด้วยการผลิตไบโอดีเซล
ขั้นตอนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากกากไขมัน
ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากกากไขมัน จะมีขั้นตอนในการผลิตอยู่หลายขั้นตอนเพื่อให้ได้น้ำมันไบโอดีเซลที่คุณภาพดีเทียบเท่าน้ำมันดีเซล ในการนี้เราจะใช้วัตถุดิบจากกากไขมัน มาเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำมันไบโอดีเซล จะมีขั้นตอนในการทำอยู่ 8 ขั้นตอนดังนี้
- ขั้นตอนการเตรียมน้ำมันจากกากไขมัน ในการรวบรวมกากไขมันจากบ่อดักไขมันแหล่งต่างๆนำมากรองเศษอาหารที่ติดมากับกากไขมัน พักให้เกิดการแยกชั้นระหว่างกากไขมันกับน้ำ ทำการตักเฉพาะกากไขมันที่ลอยอยู่ด้านหน้าโดยการกรองจากตะแกรงเพื่อแยกเศษอาหารที่ติดมาด้วย เพื่อให้ได้กากไขมันที่สะอาดพอที่จะนำมาทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้
- ขั้นตอนการต้มไล่น้ำออกจากกากไขมัน เมื่อเรากรองเศษอาหารออกจากกากไขมัน ในขั้นตอนนี้เราจะใช้วิธีการต้มให้ความร้อนเพื่อให้น้ำละเหยแยกออกจากกากไขมันจนหมด สังเกตได้จากไอน้ำที่ระเหยออกจากกากไขมัน
- ขั้นตอนการปรับสภาพกากไขมันก่อนทำปฏิกิริยา ขั้นตอนนี้เป็นการใช้สารเคมี (เมทานอล+กรดซัลฟูลิก) ในการปรับสภาพโมเลกุลที่แตกต่างกัน เพื่อให้พร้อมที่จะทำปฏิกิริยาในขั้นตอนต่อไป
- ขั้นตอนการทำปฏิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น ขั้นตอนนี้สำคัญมากซึ่งจะใช้สารเคมี (เมทานอล+โปรตัสเชียมไฮดอกไซย์) ในการทำปฏิกิริยาเพื่อให้เกิดไบโอดีเซลและกลีเซอรีน
- ขั้นตอนการแยกกลีเซอรีน ในขั้นตอนนี้ก็จะใช้แสงไปส่องดูว่ามีการแยกชั้นของไบโอดีเซลกับกลีเซอรีนสังเกตดูกลีเซอรีนจะมีสีดำข้นๆเหนียวๆ ไบโอดีเซลจะออกสีเหลืองใส่
- ขั้นตอนการล้างน้ำ ในขั้นตอนนี้เราจะใช้น้ำในการล้างสารเคมีที่ตกค้างจาการทำปฏิกริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น และล้างส่วนผสมที่ติดมากับน้ำมัน เช่น ซอส ซิอิ้ว ฯลฯ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้สามารถละลายไปกับน้ำได้
- ขั้นตอนการไล่ความซื้นออกจากไบโอดีเซล ในขั้นตอนนี้เราใช้ลม ไล่ความซื่นหลังจากเราล้างไบโอดีเซลด้วยน้ำแล้ว ในขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาในการไล่ความซื่นนาน
- ขั้นตอนการกรองไบโอดีเซลก่อนการนำไปใช้งาน ขั้นตอนนี้จะใช้ผ้ากรองขนาดรู 1ไมคอล เพื่อกรองสิ่งสกปรกที่ติดมากับไบโอดีเซล
การนำไบโอดีเซลไปใช้งาน
- เครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ เครื่องยนต์ดีเซลทางการเกษตร สามารถใช้ไบโอดีเซล ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ โดยการผสมในอัตราส่วน เริ่มต้นได้ตั้งแต่ 5 เปอร์เซนต์ ถึงทดแทนน้ำมันดีเซลได้ 100 เปอร์เซนต์ ตามการใช้งานของเครื่องยนต์
- สามารถทดแทนกับเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันดีเซลได้ 100 เปอร์เซนต์ เช่นหม้อต้มไอน้ำ เตาเผาต่างๆ