ในปัจจุบัน ข้าวลดโลกร้อน เกิดขึ้นในสังคมเกษตรกรไทยอย่างเป็นรูปธรรมแล้วที่ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำนาที่ไม่ให้น้ำขังด้วยวิธี “ทำนาเปียกสลับแห้ง” ภายใต้โครงการ ไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ซึ่งเป็นความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าว ใช้เทคโนโลยี 4 ประเภทในการปรับหน้าดิน ลดการใช้น้ำ ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมและจัดการฟางข้าว ทั้งนี้ การทำนาเปียกสลับแห้งจะไม่ปล่อยให้น้ำขังอยู่ในพื้นที่นาตลอดเวลา ช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซมีเทนทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27 เท่า ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 30% เทียบกับวิธีทำนาปกติ จึงเรียกว่า “นาข้าวลดโลกร้อน”
นอกจากนี้ โครงการ Thai Rice NAMA มีแปลงทดลองปลูกอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีอีก 5 จังหวัด คือ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ เป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง คือตอนข้าวตั้งท้อง เอาน้ำออกจากนาให้หมด นอกจากข้าวไม่ตายแล้ว ตรงกันข้ามยังให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 20-30% และใช้ปริมาณน้ำน้อยลงครึ่งหนึ่ง ลดพลังงานสูบน้ำทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นหายไป 70% ตอนนี้มีบริษัทอเมริกันมาซื้อคาร์บอนเครดิตแล้ว
4 ขั้นตอน ของการทำ ข้าวลดโลกร้อน ที่ทำง่ายได้ผลจริง
ทั้งนี้ 6 จังหวัดนำร่อง ได้ร่วมอบรมและปรับรูปแบบการทำนา เป็นการทำนาแบบยั่งยืน คือ การปรับเปลี่ยนที่ประยุกต์กับการทำนาแบบดั้งเดิมของไทยผ่าน 4 วิธีหลัก ได้แก่
1. ใช้เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ที่มีความละเอียดแม่นยำ สามารถปรับหน้าดินในสภาพที่ดินแห้งได้มีประสิต่อทธิภาพ เหมาะสมในระดับความคลาดเคลื่อน +/- 2 ซม. ทั่วแปลง
2. การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว โดยข้าวต้องการน้ำมากที่สุดตั้งแต่ 20 วัน ก่อนการออกรวง และ 20 วันหลังการออกรวง ซึ่งไม่ใช่การขังน้ำไว้ในนาตลอดเวลา เพราะน้ำที่ขังในนาเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการสะสมของก๊าซมีเทนได้มาก
3. เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารในนาข้าว ตั้งแต่การเลือกใช้ชนิดปุ๋ยให้เหมาะสม เพียงพอ ให้ตรงตามเวลาที่ข้าวต้องการ คือ ระยะกล้า ระยะแตกกอ และ ระยะสร้างรวงอ่อน และ
4. เทคโนโลยีการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว โดยไม่ใช้วิธีการเผา คือ การไถกลบฟาง/ตอซังขาวลงในนา และ ย้ายฟางข้าวออกจากนา ไปเป็นอาหารสัตว์ วัสดุทำเพาะเห็ด หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ บวกกับอีก 1 วิธี คือ ใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การใช้กับดักแสงไฟ ตาข่าย ปลูกพืชเป็นแนวกันชน และทางเลือกสุดท้ายคือการใช้สารเคมี
อย่างไรก็ดี หลังจากทำนาด้วย 4 วิธีนี้แล้ว ก็ต้องมีระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification :MRV) ซึ่งในการตรวจวัดจะนำตัวอย่างก๊าซที่พบในนาใส่ลงไปในเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ เพื่อนำไปคำนวณการปลดปล่อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นกลางและนำไปใส่ในระบบ MRV เพื่อจัดเก็บและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ ที่ช่วยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทางโครงการฯได้พัฒนาขึ้น
และในช่วงก่อนเริ่มโครงการฯ ได้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากนาข้าวทั้ง 6 จังหวัดได้ 1.22 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หลังจากทำโครงการฯได้ 4 ปี จึงมีการประเมินอีกครั้งพบว่าก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวปลดปล่อยลดลง 0.87 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หรือ 29% ต่อฤดู
ด้าน ดร.โทมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญ GIZ-CIM ให้ข้อมูลว่า “จากการทำนาแบบเดิมของชาวนาในแปลงนาสาธิตของ จ.ปทุมธานีพบการปล่อยก๊าซมีเทน 3.58 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ส่วนอีก 5 จังหวัดเฉลี่ยมีการปล่อยก๊าซมีเทนประมาณ 1.23 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน เท่ากับว่า จ.ปทุมธานีมีการปล่อยสูงถึง 3 เท่า”
“แต่หลังจากมีการปรับการใช้น้ำในแปลงนา พบค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซมีเทน จ.ปทุมธานีลดลงประมาณ 1.88 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน และจังหวัดอื่นลดลงรวมเฉลี่ย 0.50 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ยิ่งในช่วงฤดูแล้งทำให้ก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยลดลง รวมไปถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่ภาคการเกษตรอื่นๆ และการใช้เทคโนโลยีต่างก็สามารถนำไปใช้กับพืชเกษตรที่ไม่ใช่แค่ข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
ที่มา Praornpit Katchwattana,www.salika.co