ชีวิตหลังเกษียญของเหล่าแบตเตอรี่จากรถไฟฟ้าอาจยังไม่ต้องจบลงที่โรงงานรีไซเคิลอย่างเดียวอีกแล้ว 😉
เพราะพวกมันยังอาจนำไปใช้เก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้อีก 👍⚡
ถึงจะเป็นแบตเก่าจากรถไฟฟ้าแต่ยังคงได้ต่ออายุในบ้านหลังใหม่
ด้วยการมาของรถ EV ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในทุกวันนี้ เหล่าบรรดาค่ายรถเริ่มทยอยปรับเปลี่ยนจากรถน้ำมันไปรถไฮบริดและไปสู่รถไฟฟ้าเต็มตัว
สิ่งหนึ่งที่กำลังจะเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของตลาดรถไฟฟ้าก็คือ “แบตเตอรี่เก่าที่เกิดจากรถไฟฟ้ากองพะเนินนี้จะทำอย่างไรกับมันดี?”
แบตเตอรี่ลิเธียมที่เห็นอยู่นี่กำลังจะกลายเป็นขยะอิเล็คโทรนิคจำนวนมหาศาลในอนาคต
แต่จากรายงานการศึกษาล่าสุดของ MIT พบว่าพวกแบตเตอรี่มือสองจากรถ EV เหล่านี้อาจจะยังได้ต่ออายุในบ้านหลังใหม่ที่เรียกว่าระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
นั่นคือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือ wind farm ที่มีระบบแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้านั้นอาจจะดำเนินงานได้คุ้มทุนเร็วกว่าหากใช้แบตเตอรี่มือสองที่ปลดระวางจากเหล่ารถ EV แทน
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อใช้คู่กับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่จะช่วยลดข้อเสียของความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไปได้
ทั้งนี้ถ้าหากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ต้องลงทุนด้วยแบตเตอรี่ที่ผลิตใหม่นั้นก็จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันราคาค่าไฟได้
แต่ถ้าหากแบตเตอรี่ที่นำมาใช้ในระบบเก็บไฟฟ้านั้นเป็นแบตมือสองที่ปลดระวางจากรถ EV เรื่องราวอาจจะต่างออกไป
เพราะแบตรถ EV ที่ถูกปลดระวางนั้นใช่ว่าจะเสื่อมสภาพจนใช้งานไม่ได้ชาร์จไฟไม่เข้าเลย หากแต่เก็บไฟได้น้อยลงตามสภาพการใช้งานของแบตเตอรี่ลิเธียมที่ความสามารถเก็บไฟจะลดลงตามจำนวนรอบที่ชาร์จ
ชาร์จใช้ไปเรื่อย ๆ แบตก็จะเสื่อมลงตามเวลาอันเนื่องจากปฏิกริยาเคมีในตัวแบตเตอรี่
ซึ่งแบตที่ถือว่าเสื่อมแล้วของรถ EV นั้นยังมีประโยชน์ในการเอามาใช้เก็บไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ได้ไม่ว่าลมหรือแสงแดด
หรือแม้แต่การนำมาทำโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ซื้อไฟราคาถูกจากระบบมาชาร์จและขายออกตอนช่วงที่คนใช้ไฟเยอะซึ่งสามารถขายไฟได้ราคาสูงกว่า
ทั้งนี้ต้นทุนหลักของโรงไฟฟ้ารูปแบบนี้คือค่าแบตเตอรี่นั่นเอง ซึ่งถ้าต้นทุนค่าแบตเตอรี่ถูกลงก็จะคุ้มทุนได้โดยใช้แบตมือสอง
โรงไฟฟ้าพลังงานหมุ่นเวียนและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะทำให้เราผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยมลพิษและมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างสม่ำเสมอตามที่ต้องการ
โดยในการศึกษานั้นพบว่าด้วยราคาค่าไฟในรัฐแคลิฟอร์เนีย หากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ใหม่เลยนั้นจะไม่สามารถทำกำไรได้
แต่หากค่าแบตเตอรี่เหลือ 60% ของราคาเต็มกิจการก็จะเริ่มทำกำไร
ซึ่งทั้งนี้ยังต้องมีประเด็นทางเทคนิคที่ต้องพิจารณาอื่น ๆ อีก อย่างเช่น การเอาแบตเตอรี่จากรถหลายยี่ห้อมาต่อใช้งานร่วมกัน การตรวจสภาพแบตเตอรี่ว่าลูกไหนยังมีสภาพดีพอใช้งานได้อยู่
การจะเอาแบตเตอรี่หลายยี่ห้อมาทำระบบ Energy Storage นั้นไม่ง่าย
ทั้งนี้ปกติแล้วแบตเตอรี่ของรถ EV มักจะถูกปลดระวางเมื่อใช้งานไปได้ประมาณ 80% ของรอบการชาร์จที่ออกแบบไว้ และสำหรับระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่นั้นอาจใช้งานได้จนถึง 60% ก่อนปลดระวาง
แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ แบตเตอรี่มือสองที่จะเอามาใช้นี้จะสามารถใช้งานไปได้นานแค่ไหน คุ้มค่ากว่าการใช้แบตเตอรี่ใหม่หรือไม่
อีกไม่นานเมื่อเรามีแบตเตอรี่ปลดระวางจากรถ EV มากมาย วันนั้นอาจจะมีคำตอบที่ชัดเจนขึ้น เพราะถึงยังไงก็เป็นการใช้งานแบตเตอรี่ให้คุ้มค่ามากขึ้นอยู่ดี เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการรถ EV และกิจการผลิตไฟฟ้า
** ว่าแต่ถ้าไม่ไปอยู่โรงไฟฟ้า แล้วแบตเตอรี่จากรถ EV ปลดระวางแล้วไปไหน? **
YOUTUBE.COMEco-friendly method of recycling EV batteriesThe German company Duesenfeld recycles batteries from electric cars. The main difference: The modules are shredded where the end-of-life batteries are collec…
หนึ่งในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งแยกเอาวัตถุดิบที่ยังพอมีประโยชน์นำกลับไปใช้งานใหม่
ปัจจุบันเริ่มมีโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมของรถ EV เกิดขึ้นแล้วทั้งในญี่ปุ่นและเยอรมัน โดยในคลิปด้านบนเป็นโรงงานรีไซเคิลในเยอรมัน
โดยขั้นแรกนั้นจะทำการแยกวัสดุหุ้มชุดแบตที่เป็นโลหะและพลาสติกออกแล้วนำไปยังรีไซเคิลต่อที่โรงงานรีไซเคิลทั่วไป
หลังจากที่ตัวโมดูลแบตเตอรี่ถูกรื้อออก แบตเตอรี่แต่ละลูกจะถูกแยกและส่งไปยังเครื่องบดสุญญากาศ (หรือบางครั้งอัดไนโตรเจน) เพื่อป้องการระเบิด
ทั้งนี้เพราะส่วนประกอบในแบตเตอรี่นั้นติดไฟและแบตเตอรี่บางลูกอาจจะยังมีประจุไฟฟ้าค้างอยู่ข้างในทำให้เกิดการระเบิดได้
โดยสิ่งแรกที่จะแยกและได้กลับมาคือสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในตัวแบตเตอรี่ที่ระเหยและกลั่นตัวกลับออกมา
และเศษแบตเตอรี่ที่ถูกปั่นก็จะถูกแยกเอาอลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง และพลาสติกออกด้วยกระบวนการต่าง ๆ ทั้งใช้แม่เหล็กแยก หรือ Cyclone separator
ส่วนนี่เหลือจากการแยกนี้จะถูกปั่นจนเป็นผงละเอียดได้เป็นผงวัตถุดิบที่เรียกว่า Gray Power ซึ่งยังต้องนำไปคัดแยกต่อด้วยกระบวนการทางเคมีต่อไป
ซึ่งกระบวนการนี้ต้องทำในห้อง Lab ซึ่งจะสามารถแยกได้ กราไฟต์ แมงกานีส นิเกิลและโคบอล
และแร่ที่สำคัญที่สุดของแบตเตอรี่ลิเธียมก็คือโลหะลิเธียม ซึ่งโรงงานรีไซเคิลนี้สามารถแยกลิเธียมให้บริสุทธิ์จนนำไปใช้ผลิตแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย
ซึ่งวัตถุดิบที่รีไซเคิลกลับมาได้นี้จะสามารถช่วยลดปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้ถึง 40% เลยทีเดียว
ก็เตรียมตัวเปลี่ยนเข้าสู่ยุคการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และขยะแบตเตอรี่ที่จะออกมาท่วมโลก ถ้าเราไม่หาวิธีจัดการอย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที 😔
Source:
https://interestingengineering.com/second-hand-ev-batteries-to-benefit-solar-energy-farms
http://news.mit.edu/2020/solar-energy-farms-electric-vehicle-batteries-life-0522