มูลไก่เนื้อที่เจือปนด้วยแกลบรองพื้นซึ่งเหลือทิ้งจากกระบวนการเลี้ยงไก่เนื้อ นอกจากสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยปรับปรุงดินแล้วยังสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อใช้ภายในฟาร์มได้อีกด้วย จากผลการดำเนินโครงการลดแอมโมเนียในมูลไก่ด้วยเทคนิคการไล่แบบสุญญากาศ เพื่อการเพิ่มศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพ สนับสนุนโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการลดแอมโมเนียในมูลไก่เนื้อ สู่การนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์
จากผลการศึกษาระยะเวลากักเก็บที่เหมาะสมต่อการผลิตก๊าซชีวภาพของมูลไก่เนื้อที่เจือปนด้วยแกลบรองพื้น โดยใช้ถังหมักแบบแห้งและควบคุมปริมาณของแข็งทั้งหมดเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ พบว่าที่ระยะเวลากักเก็บ 60 วัน เป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตก๊าซชีวภาพ โดยระบบสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 0.249 ลูกบาศก์เมตรมาตรฐานต่อกิโลกรัมของแข็งระเหยที่ป้อน หรือ 182 ลิตรมาตรฐานต่อกิโลกรัมมูลไก่เนื้อ และมีสัดส่วนของก๊าซมีเทนเท่ากับ 51.6 เปอร์เซ็นต์ หากนำมูลไก่เนื้อที่เจือปนด้วยแกลบรองพื้นมาปรับสภาพเบื้องต้นด้วยเทคนิคการไล่แบบสุญญากาศที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2.5 ชั่วโมง ก่อนนำไปหมักย่อยในถังหมักแบบแห้ง ซึ่งสามารถลดขนาดของถังหมักให้เล็กลงได้ครึ่งหนึ่ง โดยที่ระบบสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 0.201 ลูกบาศก์เมตรมาตรฐานต่อกิโลกรัมของแข็งระเหยที่ป้อน หรือ 146 ลิตรมาตรฐานต่อกิโลกรัมมูลไก่เนื้อ และมีสัดส่วนของก๊าซมีเทนเท่ากับ 51.4 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของมูลไก่เนื้อของแต่ละฟาร์ม ซึ่งอาจมีการเลี้ยงไก่เนื้อบนพื้นแกลบที่มีความหนาแตกต่างกัน
ในการออกแบบเทคโนโลยีการหมักแบบแห้งที่มีระยะเวลากักเก็บนานเกินไปอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบสูงเกินไป ดังนั้นการลดแอมโมเนียในมูลไก่เนื้อด้วยเทคนิคการไล่แบบสุญญากาศสามารถลดขนาดของถังหมักได้ และมีความเหมาะสมในการนำไปขยายผลใช้งานได้จริง ส่งผลให้ผู้ประกอบการฟาร์มไก่เนื้อได้แนวทางเลือกใหม่ในการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ไปทดแทนพลังงานความร้อนในรูปก๊าซหุงต้มสำหรับกกลูกไก่ หรือเผาซากไก่ ตลอดจนสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้อีกด้วย