ประเทศไทยได้นำพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในขณะนี้มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นหลังจากเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คือพลังงานจากขยะ โดยเฉพาะขยะตามบ้านเรือนหรือกิจการต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง ขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมวลชีวภาพ เช่น กระดาษ เศษอาหาร และไม้ เป็นต้น
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลากหลายที่ช่วยนำขยะมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ทั้งเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดมากขึ้นในทุกวัน พลังงานทดแทนจากขยะที่ได้ออกมาจะอยู่ในรูปของความร้อน นอกจากนั้น ขยะยังสามารถนำมาผลิตพลังงานในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย สำหรับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนจากขยะที่จะยกตัวอย่างในวันนี้ มี 2 เทคโนโลยี ดังนี้
1.เทคโนโลยีผลิตพลังงานจากขยะโดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (Bio-chemical Conversion ) ได้แก่ เทคโนโลยีย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน การผลิตพลังงานจากขยะมูลฝอยโดยใช้ก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ (Landfill Gas to Energy)
2.เทคโนโลยีผลิตพลังงานจากขยะโดยกระบวนการทางเคมีความร้อน (Thermo-chemical Conversion) ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะ (MSW Gasification) การแปรรูปขยะมูลฝอยไปเป็นพลังงานความร้อนโดยใช้เตาเผาเผาขยะเชื้อเพลิงโดยตรง
แต่ละเทคโนโลยีสามารถแปรรูปพลังงานออกมาต่างกัน ทั้งในรูปพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า และพลังงานในรูปเชื้อเพลิง ดังนั้น การแยกขยะจากชุมชน บ้านเรือน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ประเทศไทยลดขยะที่มีอยู่ได้อย่างมาก และช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา :
-เว็บไซต์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 (ภูเก็ต) https://www.reo15.go.th/environmental…/detail/19/data.html
— เว็บไซต์กระทรวงพลังงาน http://www.thaienergydata.in.th
– เว็บไซต์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน http://www.dede.go.th