เปลี่ยนซังข้าวโพดเป็นพลังงาน
การเปลี่ยนซังข้าวโพดให้เป็นพลังงาน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งกระบวนการหลักในการเปลี่ยนเศษชีวมวลหรือซังข้าวโพด ให้เป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง (Corn Pellet) จะเริ่มต้นจาก
1 กระบวนการย่อย (Crushing Process) เพื่อทำการลดขนาดของเศษชีวมวลให้มีขนาดเล็กเหมาะสม
2. กระบวนการลดความชื้น (Drying Process) จะเป็นขั้นตอนการลดความชื้นในตัววัตถุดิบเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปอัดขึ้นรูป
3. กระบวกการอัด (Pelleting Process) เป็นกระบวนการขึ้นรูปชีวมวลให้เป็นเม็ดแท่ง ซึ่งโดยปกติจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 10 มิลลิเมตร ความยาว 3 – 6 เซนติเมตร โดยเทคโนโลยีการอัดแท่ง มีอยู่หลายประเภท เช่น เครื่องอัดแท่งแบบหัวอัดแนวราบ (Flat die pellet mill) เครื่องอัดแท่งแบบหัวอัดวงแหวน (Ring Die pellet mill) เป็นต้น
4. กระบวนการระบายความร้อน (Colling Process) เป็นกระบวนการทำให้เชื้อเพลิงอัดแท่งเย็นตัวลงและคงรูป
ซึ่งในปัจจุบัน การปรับขึ้นราคาอย่างรวดเร็วของเชื้อเพลิงฟอสซิส ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงอัดแท่งในตลาดโรงงานอุตสาหกรรมเป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่เพียงแต่โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยเท่านั้น แต่ตลาดโลกก็มีแนวโน้มความต้องการในเชื้อเพลิงอัดแท่งเพิ่มขึ้นในทุกๆปี โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและอเมริกา
เชื้อเพลิงอัดแท่ง สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์เครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมหลาย ประเภท เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำ หรือเตาเผาของโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการผลิต ปูนซีเมนต์ การใช้เชื้อเพลิงอัดแท่งก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอัดแท่ง สร้างมลพิษอากาศน้อยกว่าเชื้อเพลิงประเภทถ่านหิน หรือน้ำามันเตาที่ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการเผาไหม้เกิดขึ้นในปริมาณมาก ดังนั้น ชุมชนในพื้นที่เขตภาคเหนือ ที่ทำการปลูกข้าวโพดในปริมาณที่มาก สามารถนำซังข้าวโพดมาสร้างประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง เพื่อสร้างรายได้และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างชุมชนและธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน