4 เทคโนโลยีทำนาลดโลกร้อน
ในขั้นตอนการปลูกข้าวชาวนามักปล่อยน้ำขังในนาข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการหมักหมมจนเกิดก๊าซมีเทนต้นเหตุของภาวะโลกร้อน อีกทั้งการใช้น้ำปริมาณมาก อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ แต่ชาวนาใน 6 จังหวัดภาคกลางกำลังปรับเปลี่ยนการทำนาของพวกเขาด้วย 4 เทคโนโลยีที่ช่วยลดปัจจัยโลกร้อน และยังช่วยลดต้นการผลิตได้ด้วย
การทำนาลดภาวะโลกร้อนนั้น ทำได้ด้วย 4 เทคโนโลยีเริ่มจาก 1.เทคโนโลยีปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling: LLL) เป็นการปรับระดับพื้นที่นาข้าว โดยจะเกลี่ยดินจนกระทั่งพื้นที่แปลงนามีความสูง-ต่ำราบเรียบเสมอกัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงการสูบน้ำเข้าแปลงนา ลดการใช้ปุ๋ย ลดจำนวนวัชพืช ประหยัดน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวประมาณ 30-50% และยังช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว
เทคโนโลยีที่ 2.การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate Wetting and Drying: AWO) ซึ่งเป็นเทคนิคการทำนาที่นักวิชาการแนะนำชาวนามาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยปกติการขังน้ำไว้ในนามากเกินไป แปลงนาจะกลายเป็นแหล่งเพาะโรคแมลงต่างๆ ทำให้ชาวนาต้องใช้สารเคมีกำจัดในภายหลัง ส่งผลให้คุณภาพดินเสื่อมลง
การทำนาเปียกสลับแห้งจะเป็นการให้น้ำแก่ต้นข้าวในระยะที่ข้าวต้องการเท่านั้น โดยมีเครื่องมืออย่างง่ายเพื่อช่วยสังเกตระดับน้ำใต้ดินเป็นท่อพีวีซี (PVC) ที่มีขนาด 4 นิ้ว ยาวประมาณ 5 เซ็นติเมตร และเจาะรูรอบๆ ท่อประมาณ 4-5 แถว แต่ละแถวห่างกัน 5 เซ็นติเมตร ซึ่งการทำนาด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ระบบรากข้าว การแตกกอและความสมบูรณ์ของรวงข้าวดีขึ้น และช่วยประหยัดน้ำได้สูงสุด 50% และยังประหยัดค่าเชื้อเพลิงสูบน้ำได้ถึง 30% อีกทั้งยังลดการระบาดของแมลงและประหยัดค่าดูแลด้วย
หลังจากปรับระดับที่ดินและควบคุมการใช้น้ำแล้ว เทคโนโลยีต่อมาคือการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยการใช้ปุ๋ยมาเกินไปนั้นทำให้ดินเสื่อมสภาพ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าว จึงมีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น เพื่อให้พอดีกับความต้องการของข้าวและดิน โดยชาวนาสามารถเก็บตัวอย่างดินในแปลงนาไปส่งตรวจกับ “หมอดิน” หรือกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์หาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และนำไปสู่การใช้ปุ๋ยที่ถูกสูตรถูกอัตรากับคุณภาพของดิน
สุดท้ายคือเทคโนโลยีการจัดการฟางและตอซัง ซึ่งโดยทั่วไปชาวนามักเลือกการเผาฟางและตอซัง เนื่องจากการปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาตินั้นใช้เวลานาน ไม่สอดคล้องกับการทำนาปีละหลายครั้งของบางพื้นที่ แต่การเผานี้ทำให้ธาตุอาหารที่อยู่ในฟางข้าวและตอซังคือไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมถูกทำลาย โดยไนโตรเจนจะถูกทำลายไป 93% และฟอสฟอรัสหายไป 20% จึงเป็นเหตุให้ดินเสื่อม อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 และเกิดก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับคำแนะนำในการจัดการฟางข้าวและตอซังโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คือการเอาฟางข้าวออกจากแปลงนาด้วยการอัดเป้นฟางก้อน สำหรับเป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นวัสดุเพาะ จากนั้นไถกลบตอซังแล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 เดือนก่อนเตรียมดิน โดยพบว่าการไถกลบตอซังแล้วปล่อยทิ้งไว้ 15 วันในสภาพดินแห้งหรือชื้นก่อนการเตรียมดิน สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวในฤดูเพาะที่ 2 และฤดูต่อๆ ไป โดยยังคงให้ผลผลิตมากเท่าเดิม
ทั้ง 4 เทคโนโลยีที่ระบุไปข้าวต้นนั้น เป็นเทคโนโลยีที่โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ส่งเสริมแก่ชาวนาใน 6 จังหวัดภาคกลางเขตชลประทาน คือ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และ จ.สุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าพัฒนาการผลิตข้าวของชาวนา 100,000 ครัวเรือน
โครงการไทย ไรซ์ นามาเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2561-2566 โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากกองทุนที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NAMA Facility) 14.9 ล้านยูโร หรือประมาณ 513 ล้านบาท
ทางด้าน น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจกแจงว่าสำหรับเงินทุนสนับสนุนกว่า 500 ล้านบาทนั้น ทางโครงการได้แบ่งเงิน 50% เพื่อจัดตั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เป็นผู้รับเงินและจัดการกองทุน ส่วนหนึ่งให้ชาวนากู้เงินดอกเบี้ย 0% เพื่อนำไปลงทุนและชำระค่าบริการแก่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ และมีระยะเวลาใช้หนี้คืน 3 รอบการเพาะปลูก และสินเชื่อสีเขียวซึ่งเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ใช้บริการเทคโนโลยีปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์
เผยแพร่: 11 ก.ค. 2562 12:20 โดย ผู้จัดการออนไลน์