“ฟาร์มขนาดเล็ก” ผลิตพลังงาน เพิ่มรายได้ด้วย “ไบโอแก๊ส”
ในอดีตที่ผ่านมา การทำบ่อก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตพลังงานและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดกลางเท่านั้น เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพมีราคาที่ค่อนข้างสูง หรือถ้ามีเงินลงทุน ก็ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะคืนทุน ทำให้ฟาร์มขนาดเล็กที่มีสุกรหรือมีสัตว์เลี้ยงไม่มาก ไม่สามารถทำการก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพได้
แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องความต้องการทางด้านพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ฟาร์มขนาดเล็กก็มีปัญหาในจุดนี้เหมือนกับฟาร์มขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ดังนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาวิจัยและได้นำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพระบบ CD-Junior (Channel Digester-Junior) และระบบบ่อหมักโดมคงที่ (Fixed dome) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการหมักย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสีย โดยอาศัยกลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ใช้อากาศ ทำหน้าที่หมักและย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซชีวภาพมาใช้กับฟาร์มขนาดเล็ก เพื่อบำบัดน้ำเสียภายในฟาร์ม
ฟาร์มขนาดเล็ก คือ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีจำนวนการเลี้ยงไม่สูงมาก ถ้าเป็นสุกรก็ไม่เกิน 500 ตัว ไก่ไข่ ไม่เกิน 10,000 ตัว หรือ วัวนมและวัวเนื้อไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งของเสียจากฟาร์มเหล่านี้ มีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซชีวภาพได้ในปริมาณสูงสุดถึงวันละ 51 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปใช้กับเครื่องหมุนพัดลมโรงเรือน หรือนำไปใช้กับเครื่องสูบน้ำ ทดแทนการใช้น้ำมันหรือกระแสไฟฟ้า และสามารถนำไปใช้ทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในครัวเรือนได้ด้วย ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับฟาร์มเป็นอย่างมากที่สำคัญยังลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย กลิ่นเน่าเหม็นและแมลงวัน และยังมีรายได้จากการขายปุ๋ยชีวภาพที่เป็นผลผลิตจากการนำกากตะกอนส่วนที่เหลือจากการหมักก๊าซชีวภาพและน้ำที่ผ่านการหมักมาทำเป็นปุ๋ยอีกด้วย
สนใจผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงาน
ติดต่อได้ที่ 053-942007 ต่อ 310-311
#Line : @vpr4950b