น้ำเสียเป็นแหล่งพลังงานได้
ในปัจจุบันมีน้ำเสียเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจการค้า ภาคเกษตรกรรม และภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำเสียประเภทอินทรีย์ และต้องบำบัดด้วยระบบชีวภาพ ทำให้มีผลิตผลพลอยได้เป็นก๊าซชีวภาพที่มีองค์ประกอบหลัก คือ ก๊าซมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟ และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรมได้
การผลิตพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพนั้น ต้องพิจารณาว่าน้ำเสียมีคุณสมบัติและปริมาณเหมาะสมที่จะผลิตก๊าซชีวภาพหรือไม่ และสามารถนำไปใช้ทดแทนพลังงานในกระบวนการผลิตได้มากน้อยเพียงใด โดยวิธีการนำก๊าซชีวภาพไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่หลายวิธี ได้แก่
1. การใช้เป็นเชื้อเพลิงหม้อไอน้ำ
แรงดันจากระบบจะดันก๊าซชีวภาพไปเข้าหัวเผา (burner) โดยก๊าซชีวภาพ 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถใช้แทนน้ำมันเตาได้ประมาณ 0.6 ลิตร การนำก๊าซชีวภาพไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหม้อไอน้ำเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมโดยทั่วไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่ำ และโดยทั่วไปโรงงานต้องการไอน้ำสำหรับกระบวนการผลิต
2. การเผาให้ความร้อนในกระบวนการผลิต
ในกระบวนการผลิตที่มีความต้องการเชื้อเพลิงหรือไฟฟ้าในการให้ความร้อน สามารถนำก๊าซชีวภาพมาใช้ได้โดยตรง วิธีการนี้มีความเหมาะสมมาก เนื่องจากง่ายและเสียค่าใช้จ่ายต่ำในการปรับปรุงระบบจ่ายก๊าซ
3. การผลิตกระแสไฟฟ้า
วิธีการนี้ต้องมีการกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในก๊าซชีวภาพ เพราะไฮโดรเจนซัลไฟด์จะทำให้เครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้าถูกกัดกร่อนได้ วิธีนี้จะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหม้อไอน้ำ และราคาเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ามีราคาสูง จึงใช้ในกรณีที่โรงงานมีความต้องการไอน้ำต่ำ หรือผลิตก๊าซชีวภาพได้มากเกินความต้องการ
4. การใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
ก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ใช้ในการหุงต้ม
จะเห็นได้ว่าน้ำเสียเมื่อผ่านกระบวนการทางชีวภาพแล้ว จะสามารถนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในโรงงาน และลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในเชิงพาณิชย์ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ประโยชน์สูงสุดและลดปัญหามลภาวะได้อีกด้วย
ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)