ก๊าซชีวภาพ จาก โรงงาน สุรากลั่น
การผลิตสุราชุมชน หรือเหล้าขาว 35 ดีกรี ของวิสาหกิจชุมชนแม่บัวสีกรุ๊ป ที่ ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำเสียจากกากส่า จึงได้นำกากส่ามาปรับสภาพให้เหมาะสมและผ่านระบบบำบัดน้ำเสียทำให้ปัจจุบันระบบก๊าซชีวภาพสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีค่า COD ลดลง เหลือเพียง 854 มิลลิกรัม/ลิตร และน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วยังมีสารอินทรีย์และธาตุอาหารคงเหลืออยู่มาก สามารถนำมาใช้รดสวนลำไยภายในโรงงานเพื่อใช้เป็นปุ๋ย โดยไม่ต้องปล่อยทิ้งออกสู่ภายนอก
ในกระบวนการผลิตสุรากลั่นชุมชนมีน้ำเสียที่เกิดขึ้นประมาณ 1,000ลิตรต่อวัน ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนบริเวณใกล้เคียง โดยมีเพียงบ่อพักน้ำทิ้งขนาด 15 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2บ่อ ก่อนนำน้ำเสียไปรดน้ำสวนผลไม้ภายในโรงงาน
จากผลการศึกษาในโครงการวิจัยและประยุกต์ใช้ก๊าซชีวภาพในโรงงานสุรากลั่น ชุมชนต้นแบบ อ.ลี้ จ.ลำพูน พบว่า ในแต่ละวันจะมีกากส่าข้น ประมาณ 1,000 ลิตรต่อวัน มีค่าปริมาณสารอินทรีย์ในรูปของ COD ประมาณ 190,000 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อปรับสภาพของเสียให้มีความเหมาะสมต่อกระบวนการหมักพบว่า มีความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์ทางชีวภาพโดยไร้อากาศ 60% เกิดก๊าซชีวภาพประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถทดแทนพลังงานความร้อนเทียบเท่าก๊าซหุงต้มได้ 23 กิโลกรัม
เทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียเป็นแบบAnaerobic Baffled Reactor (ABR)หรือบ่อหมักแบบผนังกั้น ขนาด 100ลูกบาศก์เมตร ก๊าซชีวภาพที่ได้จากกระบวนการบำบัดน้ำเสียจะถูกนำไปใช้นึ่งข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบของสุรากลั่น ส่วนน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วยังมีสารอืนทรีย์และธาตุอาารคงเหลืออยู่มาก จึงสามารถนำมาใช้รดสวนลำไยภายในโรงงานเพื่อเป็นปุ๋ยได้โดยไม่ต้องปล่อยทิ้งออกสู่ภายนอกโรงงาน ส่วนตะกอนจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นภายในบ่อบำบัดสามารถนำไปใช้ตากแห้งเป็นปุ๋ยหรือนำไปรดต้นไม้โดยตรง