ปัญหาขยะแผงโซลาร์ในอนาคตจัดการอย่างไร

ปัญหาขยะแผงโซลาร์ในอนาคตจัดการอย่างไร

นับแต่ปี 2545 ไทยเริ่มมีการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากการสนับสนุนของภาครัฐและรวมไปถึงภาคเอกชนที่ให้ความสนใจ แม้ว่าพลังงานดังกล่าวจะนับได้ว่าเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็คงมีประเด็นปัญหาเรื่องการกำจัดซากขยะแผงโซลาร์หลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยราว 20 ปี โดยไทยกำลังต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาดังกล่าวในอีกระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีขยะแผงโซลาร์ปริมาณราว 488 ตัน และมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 122,408 ตันในปี 2581 ซึ่งหากไม่มีมาตรการการกำจัดที่เหมาะสม ขยะดังกล่าวจะสะสมเป็นปริมาณมหาศาลเกือบ 5 แสนตันในอนาคตและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ปัจจุบันวิธีการจัดการกับซากแผงโซลาร์ยังคงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ซึ่งสำหรับประเทศไทยพบว่า ขยะจากแผงโซลาร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวทางการกำจัดได้หลายวิธี แต่วิธีการฝังกลบและการเผาอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยมนุษย์และสัตว์เป็นอย่างมากจากสารโลหะหนักที่ประกอบในแผงโซลาร์ อย่างสารตะกั่ว สารหนู และปรอท ดังนั้น จึงทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจวิธีการรีไซเคิลที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งยังเกิดผลดีในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลว่าแผงโซลาร์ประกอบด้วยโลหะมีค่า เช่น เงิน ทองแดง ตะกั่ว อลูมิเนียม ที่สามารถสกัดแยกมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องประดับ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆได้

เมื่อประเมินถึงความคุ้มค่าจากการรีไซเคิล พบว่า จะขึ้นอยู่กับปริมาณส่วนประกอบโลหะเงินในแผงโซลาร์เป็นสำคัญ ซึ่งโลหะดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าโลหะชนิดอื่นกว่า 150 เท่า ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่าการรีไซเคิลแผงโซลาร์น่าจะสร้างความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ (รายได้จากการรีไซเคิลหลังหักต้นทุน) อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีแผงโซลาร์ก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและราคา ทำให้ปริมาณโลหะเงินในแผงโซลาร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องราวร้อยละ 14 ต่อปี (CAGR ระหว่าง 2545-2561) ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องต่อความคุ้มค่าของธุรกิจรีไซเคิลแผงโซลาร์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การรีไซเคิลขยะแผงโซลาร์จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางธุรกิจเฉลี่ยราว 3,000 บาทต่อตัน ในช่วง 5 ปีแรก(โรงงานขนาด 7,000 ตันต่อปี) และมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้าตามปริมาณโลหะเงินที่ประกอบอยู่ในแผง ซึ่งหากส่วนประกอบของโลหะเงินลดลงเกินร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2545 จะมีโอกาสเกิดความไม่คุ้มค่าทางธุรกิจขึ้น อย่างไรก็ดี ระดับความคุ้มค่าทางธุรกิจก็ยังคงขึ้นกับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ระดับราคาโลหะมีค่า ขนาดโรงงานรีไซเคิล และเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เลือกใช้ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป เมื่อภาครัฐสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชุมชนและประเทศในอนาคตมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอีกมุมหนึ่งจากซากแผงโซลาร์ ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควร     ตระหนักและพิจารณาแผนล่วงหน้าเพื่อให้เกิดการจัดการควบคู่กันอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับแนวทางรับมือความท้าทายด้านความคุ้มค่าเชิงธุรกิจที่มีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า  นอกเหนือจากแนวทางการสนับสนุนด้านการเงินจากทางภาครัฐแล้ว เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจรีไซเคิลแผงโซลาร์ ผู้ประกอบการรีไซเคิลอาจต้องพิจารณาแผนการลงทุนขยายขนาดโรงงานให้สอดคล้องกับทั้งปริมาณขยะแผงโซลาร์ที่เพิ่มขึ้นและปริมาณโลหะเงินที่ลดลง เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดจากขนาดและเกิดความคุ้มค่าเชิงธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีการรีไซเคิลใหม่ๆ จากต่างประเทศมาใช้เพื่อลดต้นทุนการรีไซเคิลในระยะข้างหน้า

​           

​​

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่