การเลี้ยงปลาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
หากฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาของท่านเคยประสบปัญหาในช่วงอากาศหนาวเย็นของฤดูหนาวและฤดูฝน อุณหภูมิน้ำภายในบ่อเพาะเลี้ยงจะมีอุณหภูมิต่ำ ส่งผลให้ปลาที่ทำการเพาะเลี้ยง กินอาหารได้น้อยลง ทำให้ต้องใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงยาวนาน กว่าน้ำหนักของตัวปลาที่ทำการเพาะเลี้ยงมีค่าพอที่จะนำออกจำหน่ายได้ ส่งผลให้ต้นทุนในการเพาะเลี้ยงสูงกว่าที่เกินจำเป็น ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นตัวเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาให้กับฟาร์มของท่านได้
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปลานิลเชิงพาณิชย์ ด้วยระบบผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นความร่วมมือระหว่าง ERDICMU และคณะสัตวแพทย์ มช.ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการจากกองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2562
ระบบประกอบไปด้วยตัวรับแสงอาทิตย์(Solar Collector) เป็นตัวดูดเก็บพลังงานความร้อนแล้วถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำ ทำให้น้ำที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิประมาณ 40-70oC ประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบทำความร้อนร่วมควบควบคุมอุณหภูมิน้ำในช่วงที่ระบบเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถทำงานได้ ให้อุณหภูมิคงที่อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลดีต่อการเพาะเลี้ยงปลาในฟาร์มของท่านในด้านต่างๆดังนี้
- บ่อเพาะเลี้ยงที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ในช่วง 28 ถึง 30 องศาเซลเซียส ลูกปลาจะพัฒนาร่างกายเร็วขึ้น โดยใช้ระยะเวลาเพียงครึ่งเดียวของกลุ่มที่ไม่ได้รับการควบคุมอุณหภูมิ
- อัตราการรอดชีวิตตั้งแต่ระยะไข่เบอร์ 1 (ช่วงวัยเอ็มบริโอ) จนกระทั่งถึงระยะ ไข่เบอร์ 5 (ระยะรอลงบ่อแปลงเพศ) พบว่าในบ่อเพาะฟักที่มีการควบคุมอุณหภูมิมีอัตราการรอดที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการควบคุมอุณหภูมิ โดยมีค่าเฉลี่ยการรอดถึงร้อยละ 50
- ระบบผลิตความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับปั๊มความร้อน (Heat pump) ใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 75 หน่วยต่อวัน หรือค่าไฟฟ้าประมาณ 9,500 บาทต่อเดือน โดยการใช้ระบบดังกล่าวเกิดมูลค่าจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามรอบการเพาะฟักที่เพิ่มขึ้นต่อเดือนในกลุ่มการทดลอง ที่เพิ่มและควบคุมอุณหภูมิ เท่ากับ 2,500,000 บาท/ปี โดยมีค่าใช้จ่ายการลงทุนระบบ 1,500,000 บาท ค่าไฟฟ้า 30,000 บาท/ปี (คิดที่ 3 เดือน) ค่าบำรุงรักษาระบบ 20,000 บาท/ปี ได้ระยะเวลาคืนทุน 0.60 ปี
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีคุณค่าทางโภชนาการ พลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญในการเลี้ยงปลานิล สำคัญอย่างไร ติดตามชมกันได้ที่ ERDI Media
เนื้อหา โดย ธนเดช ธีระสุนทรกุล วิศวกรเจ้าของโครงการ
เรียบเรียง กรรณิการ์ เหย่าตระกูล เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์