ถังหมักขยะอินทรีย์

ถังหมักขยะอินทรีย์

ถังหมักขยะอินทรีย์ เป็นทางเลือกใหม่ของการกำจัดของเสียที่แหล่งกำเนิด โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของขยะมูลฝอยทั้งหมดเป็นขยะมูลฝอยประเภทสารอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ การนำมาหมักให้เป็นปุ๋ย จึงเป็นการเปลี่ยนภาระให้เป็นมูลค่า รวมทั้งสามารถช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการจัดการขยะมูลฝอย ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอย และลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดลง ทำให้มีการใช้พื้นที่ฝังกลบซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายในการกำจัดมูลฝอยน้อยลง และสามารถลดปัญหาสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ตามมาได้อีกมาก

ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมมลพิษ จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ขึ้น เพื่อให้มีการใช้ภายในบ้านเรือน โรงเรียน โรงแรม ตลาดสด โดยได้มีการพัฒนาต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ 2 ขนาด คือ

1.ต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ขนาดเล็ก (Household Compose Bin)

2.ต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่ (Composting Unit for Fresh Market and Tourist Spot)

ต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ขนาดเล็ก (Household Compose Bin)

ใช้หมักมูลฝอยเศษอาหารร่วมกับใบไม้แห้งในอัตราส่วน 1:1 โดยปริมาตร มีระยะเวลาการหมัก 60 วัน หลังการหมักวัสดุหมักมีปริมาณสารอินทรีย์ลดลงร้อยละ 75 ปุ๋ยหมักมีปริมาณธาตุอาหารในค่าของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ได้ตามมาตรฐานปุ๋ยหมักของกรมส่งเสริมการเกษตร ถังหมักมีอัตราการเติมมูลฝอยเศษอาหารเท่ากับ 4 – 5 ลิตรต่อวัน และเศษใบไม้แห้ง 4 – 5 ลิตรต่อวัน สามารถใช้กับบ้านเรือนที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 4 – 5 คน และมีทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

1.ต้นแบบถังหมักแบบมีช่องระบายอากาศขนาด 185 ลิตร (Household Compose Bin : 185 Litre Plastic Bin)

ลักษณะเฉพาะ

  • เป็นถังพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมขนาด 185 ลิตร สามารถรองรับวัสดุหมักได้สูงสุด 120 ลิตร
  • มีฝาปิด เปิดด้านบน เพื่อนำมูลฝอยลงไปหมัก โดยด้านบนของฝาประกอบด้วย ช่องระบายอากาศออก ซึ่งกรุด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันแมลง
  • ด้านหน้าเป็นฝาปิด-เปิด โดยใช้ตาข่ายหรือมุ้งลวดกรุกันแมลงเพื่อใช้เป็นช่องระบาย ปุ๋ยหมักออกจากถังและสำหรับระบายอากาศ
  • ภายในถังมีตะแกรงเหล็กเพื่อรองรับมูลฝอยและช่วยระบายน้ำชะมูลฝอย
  • มีขนาดเล็กสะดวกในการติดตั้งและใช้งาน
  • มีล้อทำให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย
  • ไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • การหมักมูลฝอยเป็นแบบสภาวะใช้ออกซิเจนโดยให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ อากาศจะเข้าทางด้านหน้าถังทางช่องระบายปุ๋ยหมักและระบายออกทางฝาปิด-เปิดด้านบน
  • อายุการใช้งานของถังประมาณ 10 ปี

2.ต้นแบบถังหมักแบบหมุนขนาด 200 ลิตร (Household Compose Bin : 200 Litre Steel Bin)

ลักษณะเฉพาะ

  • เป็นถังรูปทรงกระบอกทำจากโลหะอลูมิเนียมกันสนิม ขนาด 200 ลิตร ติดตั้งบนแกนหมุนสำหรับหมุนพลิกถัง และด้านล่างของถังหมักทำเป็นฐานขาตั้ง สามารถรองรับวัสดุหมักได้สูงสุด 150 ลิตร
  • มีฝาปิด-เปิดเพื่อเติมมูลฝอยและระบายปุ๋ยหมักออกทางด้านบน โดยมีวงแหวนล็อคระหว่างตัวถังกับฝาปิด-เปิดให้ติดกัน
  • รอบถังทำการเจาะรู เพื่อช่วยระบายอากาศเข้าและออก
  • ด้านล่างตรงกลางก้นถังติดตั้งท่อน้ำทิ้งโดยทำเป็นวาล์วปิด-เปิด สำหรับระบายน้ำชะมูลฝอย
  • มีขนาดเล็กสะดวกในการติดตั้งและใช้งาน
  • ไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • การหมักมูลฝอยเป็นแบบสภาวะใช้ออกซิเจนโดยให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวกผ่านรูรอบถัง และมูลฝอยภายในถังหมักสัมผัสกับอากาศ ได้มากขึ้นจากการถูกหมุนพลิกกลับไป-มา
  • อายุการใช้งานของถังประมาณ 10 ปี

3.ต้นแบบถังหมักแบบใช้ท่อระบายอากาศขนาด 200 ลิตร (Household Compose Bin : 200 Litre Plastic Bin)

ลักษณะเฉพาะ

  • เป็นถังพลาสติกรูปทรงกระบอกขนาด 200 ลิตร สามารถรองรับวัสดุหมักได้สูงสุด 150 ลิตร
  • มีฝาปิด-เปิดด้านบนเพื่อนำมูลฝอยลงไปหมัก และเจาะรูรอบฝาถังเพื่อเติมน้ำเพิ่มความชื้น โดยมีวงแหวนล็อคระหว่างตัวถังกับฝาปิด-เปิดให้ติดกัน
  • ด้านหน้าเป็นฝาปิด-เปิด เพื่อใช้เป็นช่องระบายปุ๋ยหมักออกจากถัง
  • รอบถังทำการเจาะรู เพื่อช่วยระบายอากาศเข้าและออก
  • ตรงกลางของฝาถังมีท่อเจาะรูรอบท่อ ประกอบกันเป็นรูปตัวแอล (L) ยื่นออกมาด้านบน ฝาถังและด้านข้างถัง เพื่อช่วยระบายอากาศเข้าและออก
  • ด้านล่างถังทำเป็นขาตั้งและตรงกลางก้นถังติดตั้งท่อน้ำทิ้งโดยทำเป็นวาล์วปิด-เปิด สำหรับ ระบายน้ำชะมูลฝอย
  • มีขนาดเล็กสะดวกในการติดตั้งและใช้งาน
  • ไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • การหมักมูลฝอยเป็นแบบสภาวะใช้ออกซิเจนโดยให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวกผ่านรูรอบถังและยังสามารถไหลผ่านเข้าท่อที่ยื่นออกมา ทางด้านข้างและไหลผ่านออกท่อที่ยื่นออกมาทางด้านบนถัง
  • อายุการใช้งานของถังประมาณ 10 ปี

ต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่ (Composting Unit for Fresh Market and Tourist Spot)

ใช้หมักมูลฝอยเศษอาหารร่วมกับใบไม้แห้ง ในอัตราส่วน 1:1 โดยปริมาตร ใช้อัตราการเติมอากาศ 0.8 ลูกบาศก์เมตรต่อกิโลกรัมของแข็งระเหยต่อวัน มีระยะเวลาการหมัก 30 วัน หลังการหมักวัสดุหมักมีปริมาณสารอินทรีย์ลดลงร้อยละ 50 ปุ๋ยหมักมีปริมาณธาตุอาหารในค่าของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ส่วนใหญ่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยหมักของกรมส่งเสริมการเกษตร ถังหมักมีอัตราการเติมมูลฝอยเศษอาหาร 60 ลิตรต่อวัน และเศษใบไม้แห้ง 60 ลิตรต่อวัน เหมาะสำหรับแหล่งกำเนิดขยะมูลฝอยจากตลาดสด

ลักษณะเฉพาะ

  • เป็นถังพลาสติกทรงกระบอกขนาด 2000 ลิตร สามารถรองรับวัสดุหมักได้สูงสุด 1500 ลิตร
  • มีฝาปิด – เปิดด้านบนสำหรับเติมมูลฝอย และติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ขนาด 1/2 แรงม้า โดยดูดอากาศผ่านท่อพีวีซีเจาะรูโดยรอบ ซึ่งอยู่ภายในถังหมัก
  • ด้านข้างช่วงล่างมีประตู ปิด – เปิด จำนวน 3 ช่อง สำหรับเป็นช่องระบายปุ๋ยหมัก
  • ด้านล่างภายในถังติดตั้งตะแกรงสำหรับรองรับมูลฝอยและช่วยระบายน้ำชะมูลฝอยไหลลงสู่ก้นถัง
  • การหมักมูลฝอยเป็นแบบสภาวะใช้ออกซิเจนโดยพัดลมดูดอากาศจะดูดอากาศภายในกองมูลฝอย ผ่านท่อพีวีซีที่เจาะรูโดยรอบ อากาศที่ถูกดูดจะระบายออกสู่ด้านบนของถังหมัก ทำให้มีอากาศหมุนเวียนตลอดเวลาอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี

Cr.กรมควบคุมมลพิษ และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่