ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง

ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง

ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง

โรคเกี่ยวกับสมอง อย่างที่หลายคนทราบกันว่าขนาดฝุ่น PM 2.5 เล็กกว่าเส้นเลือด จึงไม่แปลกที่จะสามารถซึมผ่านเส้นเลือด ตรงเข้าเส้นประสาทรับกลิ่นในโพรงจมูก และเข้าสู่สมองโดยตรง

หลังจากเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบในสมอง เซลล์ในสมองได้รับบาดเจ็บ ในระยะยาวถ้ายังได้รับฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องนานหลายปี มีโอกาสสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ หรือมีความเสี่ยงให้เกิดโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะในเด็กเล็กมีผลเกิดความผิดปกติทางด้านพัฒนาการทางสติปัญญาต่างๆ ทั้งภาวะสมาธิสั้น ออทิซึม จนไปถึงการพัฒนาสติปัญญาช้าลง

โรคเกี่ยวกับหัวใจ ฝุ่นจิ๋วส่งกระทบโดยตรงในระยะยาวต่อหัวใจ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุว่า มากกว่า 20% ของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมาจากมลพิษทางอากาศ เมื่อร่างกายได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการอักเสบ เลือดแข็งตัว เส้นเลือดเปราะ ส่งผลให้หัวใจถูกกระตุ้นการทำงานมากขึ้น และเกิดความเสี่ยงตามมาทั้งชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยิ่งในคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว ยิ่งมีภาวะเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เพราะ PM 2.5 จะเข้าไปกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่นั้นรุนแรงขึ้นได้

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เพราะเลี่ยงการสูดดมเข้าไปทุกวันไม่ได้ อวัยวะที่รับผลกระทบหนักอันดับแรก ตั้งแต่จมูก ผ่านเข้าสู่หลอดลมใหญ่และไปถึงปอด ทำให้เกิดอาการที่สังเกตได้ทันที อย่างการระคายเคืองจมูก แสบจมูก ไอ ไปจนถึงมีเสมหะ แต่ในระยะยาวทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังอย่าง หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ไปจนถึงมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในอนาคต

โรคเกี่ยวกับทางผิวหนัง นอกจากปัญหาที่จะเกิดกับทางเดินหายใจโดยตรง ผิวหนังก็เป็นเหมือนด่านแรกที่ต้องเจอกับฝุ่นด้วยเช่นกัน ยิ่งหากออกไปผจญฝุ่นเป็นเวลานานและมีความเข้มข้นสูง ยิ่งกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังได้ ทำให้เกิดสิวได้ง่าย ผื่นกำเริบ จนไปถึงผลกระทบเรื้อรังที่เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ผิวเสื่อมหรือเรียกง่ายๆ ว่า แก่เร็วขึ้นนั่นเอง

โรคเกี่ยวกับทางตา ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเลยคือ ตาแห้ง เพราะ PM 2.5 เข้าไปมีส่วนทำให้ต่อมน้ำมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง แสบตาอยู่ตลอดเวลา และปกติฝุ่นประเภทนี้มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่มาก ก็ยิ่งทำให้ดวงตาของเราเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดโรคหลากหลายสารพัด

‘ภูมิแพ้’ อาการเฉียบพลันที่เกิดจาก PM 2.5

นอกจากในโรคระยะยาวแล้ว อาการที่พบได้ทันทีอย่างภูมิแพ้เป็นปัญหาที่หลายคนกำลังเผชิญ โดยตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2562 ถึง 9 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 มาเข้ารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์เป็นจำนวนถึง 38,803 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการ ‘โรคภูมิแพ้กำเริบ’ จากการสูดดมฝุ่นเป็นระยะเวลานาน (ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์)

ระยะนี้ลองสังเกตตัวเองว่ามีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ เช่น มีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คัดจมูก เนื้อเยื่อจมูกอักเสบ ระคายเคืองตา เกิดเยื่อบุตาอักเสบทำให้ตาแดง การคันตามผิวหนัง มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคภูมิแพ้ซึ่งเกิดจาก PM 2.5 ควรรีบรักษาให้ทันท่วงที ก่อนอาการกำเริบหนักจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งคนที่หลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านทุกวันไม่ได้ ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ

การดูแลตัวเองในสภาวะ PM 2.5

การใช้หน้ากากที่ได้มาตรฐาน เป็นตัวช่วยขั้นต้นและได้ผลดีที่สุดในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ตามท้องตลาดก็มีให้เลือกอยู่หลายแบบ ทั้งแบบใช้แล้วทิ้ง แบบใช้ซ้ำได้ หรือที่เปลี่ยนไส้กรองข้างในได้ โดยควรเลือกแบบ ‘หน้ากาก N95’ ที่เป็นมาตรฐานจากอเมริกาในการป้องกันฝุ่นตั้งแต่ 2.5 ไมครอนขึ้นไปได้ แต่หากเป็นมาตรฐานของประเทศอื่นอย่าง FFP2 จากอังกฤษ หรือ P2 จากออสเตรเลีย ก็ใช้ได้เช่นกัน

หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใครที่ชอบออกกำลังกายกลางแจ้งทุกเช้า หรือตอนเย็น ช่วงนี้คงต้องเปลี่ยนบรรยากาศมาออกกำลังกายในฟิตเนสแทน และถ้าเลี่ยงไม่ได้การใส่หน้ากาก N95 ก็เป็นทางเลือกที่ดี อาจสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเพื่อช่วยป้องกันฝุ่นแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังอีกแรง

ทานอาหารเสริมให้ร่างกาย เกราะป้องกันจากภายในสู่ภายนอกนั่นคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยช่วงนี้ อาจทานวิตามิน A C และ E เสริมเข้าไป หากคิดว่าอาหารที่ทานในชีวิตประจำวันยังได้รับวิตามินเหล่านี้ไม่เพียงพอ โดยวิตามิน A C และ E ช่วยลดระดับอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มให้ดียิ่งขึ้น

ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้าน ในเมื่ออากาศข้างนอกแย่ การลงทุนสร้างอากาศดีๆ เพื่อสุขภาพของเราแล้วก็เป็นอะไรที่คุ้มค่า โดยการเลือกซื้อควรคำนึง ตั้งแต่แบรนด์ที่ได้มาตรฐาน ระบบการทำงาน การรับประกัน ว่าสมเหตุสมผลกับราคาหรือไม่ และอย่าลืมคำนวณพื้นที่ใช้งานให้เหมาะสมกับขนาดเพื่อประสิทธิภาพด้วย

เตรียมยาให้พร้อม ในภาวะที่ต้องเผชิญฝุ่น PM 2.5 อยู่ทุกวัน เป็นอะไรที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายอย่างตามมา แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัด คือการแพ้ฝุ่น แพ้อากาศ โดยเฉพาะที่เป็นโรคเป็นภูมิแพ้ ควรพกยาแก้แพ้ติดตัวไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ช่วงนี้

แต่ใช่ว่าจะซื้อยาแก้แพ้แบบไหนก็ได้… ควรทำความเข้าใจประเภทของยาแก้แพ้ให้ดีก่อน

ยาแก้แพ้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม และกลุ่มยาต้านฮิสตามีนแบบใหม่ที่ไม่ทำให้ง่วงนอน

เนื่องจากการทานยาแก้แพ้ เป็นการรักษาตามอาการมากกว่าการแก้สาเหตุ อันดับแรกควรเช็กตัวเองให้แน่ใจว่า อาการที่เป็นนั้นคือ อาการของโรคภูมิแพ้ หรืออาการของกลุ่มหวัด ซึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าอาการของโรคภูมิแพ้นั้นมักมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คัดจมูก เนื้อเยื่อจมูกอักเสบ ระคายเคืองตา เกิดเยื่อบุตาอักเสบทำให้ตาแดง การคันตามผิวหนัง มีผื่นขึ้นตามร่างกาย อาการเหล่านี้เกิดจากการหลั่งสารฮิสตามีนออกมาเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม ยาแก้แพ้จะเข้าไปช่วยลดการหลั่งของสารฮิสตามีน ดังนั้นควรเลือกยาที่ใช้ในโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ประเภทที่ช่วยลดน้ำมูกจากอาการหวัด

ตัวอย่างยาในกลุ่มยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม เช่น คลอเฟนิรามีน (นิยมใช้ลดน้ำมูกในผู้ป่วยโรคหวัด) ไฮดรอกไซซีน โปรเมทาซีน ไดเฟนไฮดรามีน กลุ่มนี้ตัวยาซึมผ่านเข้าสมองได้ง่าย ออกฤทธิ์ได้ไม่นาน จึงต้องรับประทานยาวันละหลายครั้ง

ส่วนกลุ่มยาต้านฮิสตามีนแบบใหม่ที่ไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น ลอราทาดีน เซทิไรซีน และเฟกโซเฟนาดีน กลุ่มนี้ ได้รับการพัฒนาให้มีฤทธิ์เจาะจงกับตัวรับฮิสตามีน และไม่ผ่านเข้าสู่สมอง จึงไม่ทำให้ง่วง ดังนั้นควรทานเพียงวันละ 1 ครั้ง

นอกจากเลือกให้เหมาะกับโรคแล้ว ควรเลือกยาแก้แพ้ให้เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองด้วย เพราะหากเราทำงานในสถานที่ที่ต้องใช้สติอยู่ตลอดเวลา ก็ควรเลือกยาแก้แพ้ที่ไม่ออกฤทธิ์ง่วงนอน รวมไปถึงการใช้ยาให้ถูกวิธี กินตามจำนวนครั้งต่อวันตามรายละเอียดบนกล่องยากำหนด หรือปรึกษาเภสัชกร และศึกษารายละเอียดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่