PM2.5 เพิ่มการเป็นอัลไซเมอร์ 300% ออทิสติก 150% อัมพาต 100%
หากเราอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างยามเช้า เราอาจจะบอกไม่ได้แล้วว่าทิวทัศน์พร่ามัวนั้นเป็นผลมาจากหมอกหรือฝุ่นกันแน่ ซึ่งฝุ่นที่ได้รับความสนใจกันในตอนนี้คงหนีไม่พ้น ฝุ่นPM 2.5
คำว่า PM 2.5 นั้นมีที่มาอย่างไร? และเกิดขึ้นได้อย่างไร?
PM นั้นย่อมาจาก Particulate Matter ซึ่งเป็นอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กแขวนลอยในอากาศ ส่วนตัวเลข 2.5 คือเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคซึ่งเท่ากับ 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าความหนาเส้นผมราว 30 เท่า)
แหล่งกำเนิดฝุ่นเหล่านี้คือ ท่อไอเสียยานพาหนะ ปล่องโรงงาน การก่อสร้าง ควันบุหรี่ ไฟป่าหรือกระทั่งภูเขาไฟระเบิด
เนื่องจากฝุ่นเหล่านี้มีขนาดเล็กและแขวนลอยในอากาศได้นานจึงถูกลมพัดมาไปที่อื่นๆได้ด้วย
ฝุ่นสามารถจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ ดังนั้นเราอาจได้รับฝุ่นนี้ในปริมาณมากหากอาศัยในเมืองใหญ่ที่อากาศเต็มไปด้วยมลภาวะ ปัญหาจริงๆคือ ฝุ่นPM 2.5 มีขนาดเล็กมากจนขนจมูกดักจับไม่ได้ทำให้ฝุ่นเหล่านี้เล็ดลอดเข้าไปยังปอดและระบบหมุนเวียนโลหิตผ่านไปยังระบบอื่นๆของร่างกายได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอย่างหอบหืดหรือภูมิแพ้อาจอาการกำเริบเมื่อได้รับ ฝุ่นPM 2.5 มากพอ
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 มีงานวิจัยชี้ว่าฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องกับโรคสมองฝ่อ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และความจำเสื่อมด้วย! นักวิจัยศึกษาหญิงในช่วงอายุ 73 – 87 ปีจำนวน 998 คนโดยการสแกนสมองและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่เพื่อใช้ประมาณการว่าแต่ละคนได้รับPM 2.5 มากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะที่ได้รับความเปลี่ยนแปลงของสมองและความจำซึ่งสรุปได้ว่าการได้รับPM 2.5 เป็นเวลานานกระทบต่อสมองและความจำอีก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของอัลไซเมอร์ได้
การที่ฝุ่นPM 2.5 ส่งผลต่อสมองอาจเป็นเพราะมันสามารถไหลเวียนไปตามกระแสเลือดและเข้าสู่สมองไปกระตุ้นการเกิดอะไมลอยด์พลัค (Amyloid Plaques) ซึ่งเป็นสารที่เมื่อสะสมในสมองมากถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้
ไม่เพียงแต่อัลไซเมอร์เท่านั้นยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของการได้รับPM 2.5 กับโรคทางสมองและระบบประสาทอื่นๆด้วย
ดังนั้นหากเราอาศัยในเมืองที่มีมลภาวะสูงและเสี่ยงที่จะได้รับฝุ่นนี้ สิ่งที่ทำได้ไวที่สุด (แม้จะไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุหรือยั่งยืนนัก) คือการป้องกันตัวเองใช้หน้ากากกันฝุ่นที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้รวมทั้งการใช้เครื่องฟอกอากาศและอย่าลืมเตือนให้ทุกคนสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้านในวันที่ค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน
ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุน่าจะเป็นลดงานก่อสร้างในช่วงที่ฝุ่นมีค่าสูง เข้มงวดกับการปล่อยมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม
รวมทั้งการพยายามสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่ให้มากที่สุด ด้วยการเพิ่มคุณภาพของรถเมล์ ให้น่าใช้ ปลอดภัยและไม่ปล่อยควันดำ นั่นเอง
บทความโดย อาจวรงค์ จันทมาศ
อ้างอิง
https://medicalxpress.com/news/2019-11-exposure-pm-pollution-linked-brain.html
https://academic.oup.com/brain/advance-article-abstract/doi/10.1093/brain/awz348/5628036?redirectedFrom=fulltext
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0048969718345741
https://toxtown.nlm.nih.gov/chemicals-and-contaminants/particulate-matter
https://link.springer.com/content/pdf/10.1684/ejd.2015.2726.pdf