ขาแท่นปิโตรเลียมสู่ปะการังเทียม
ปะการังเทียม คือ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเลที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นกลไกในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ที่ผ่านมามีการเลือกใช้วัสดุนานาชนิดมาจัดวางเป็นปะการังเทียม อาทิ เรือเก่า ตู้รถไฟเก่า หรือวัสดุที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น การหล่อแท่งคอนกรีตในรูปทรงต่างๆ เป็นต้น
การเลือกวัสดุที่เหมาะสมต่อการจัดทำปะการังเทียม ตามหลักวิชาการแล้ว
ประการแรก ควรเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์ทะเลให้เข้ามาอยู่อาศัย (Function) รวมถึงมีพื้นผิวเหมาะสำหรับการลงเกาะของสิ่งมีชีวิตชนิดเกาะติด
ประการที่สอง คือ มีความทนทานและมั่นคงแข็งแรง (Durability and Stability) ซึ่งควรมีอายุการใช้งานนาน และมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถต้านกระแสน้ำได้เป็นอย่างดี ประการที่สาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทะเล (Compatibility)
ประการสุดท้าย คือควรเป็นวัสดุที่มีอยู่แล้ว (Availability) สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลได้
หนึ่งในวัสดุที่มีการนำมาจัดทำเป็นปะการังเทียมกันอย่างแพร่หลาย คือ ขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว หรือ ที่เรียกว่า “Rigs-to-Reefs” โดยพบว่าเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์คุณสมบัติทั้งสี่ประการข้างต้น เนื่องจากโครงสร้างของขาแท่นมีความสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและหลบภัยชั้นดีของสัตว์ทะเล มีความทนทานแข็งแรง เพราะทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) และมีพื้นผิวแข็งที่เหมาะกับการลงเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกยึดเกาะและเคลือบผิว ซึ่งด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ เมื่อนำมาวางเป็นปะการังเทียม จึงมีความมั่นคงสูง ยากที่จะเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม และเป็นส่วนที่ไม่เคยสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน จึงเข้ากับสภาพแวดล้อมในทะเลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันบริเวณขาแท่นปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเล มีสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยหลบภัยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยแนวทางของ Rigs-to-Reefs ในหลายประเทศอย่างบรูไน มาเลเซีย และในอ่าวเม็กซิโก ที่สหรัฐอเมริกา ก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว ที่เป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำยอดนิยมในหมู่นักดำน้ำทั่วโลก
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีแนวคิดในการนำขาแท่นที่ปลดระวางแล้วมาจัดวางเป็นปะการังเทียม จึงมีการศึกษาทดลองอย่างจริงจังในปี 2556 ด้วยการนำโครงสร้างเหล็กจำลองชนิดเดียวกับขาแท่นปิโตรเลียม ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมที่บริเวณอ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกันศึกษาติดตามผล
ผลการทดลอง 7 ปี พบว่าบ้านปลาจากโครงสร้างเหล็กจำลองที่ไปวางแถวเกาะพะงันถูกปกคลุมไปด้วยสัตว์เกาะติดอย่างหนาแน่น อาทิ กลุ่มฟองน้ำ สาหร่ายท่อ เพรียงหิน และเพรียงภูเขาไฟ นอกจากนี้ยังพบสัตว์น้ำวัยอ่อน และปลาเข้ามาอยู่อาศัยหลากหลายสายพันธุ์อย่างน้อย 24 ชนิด ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จนทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกาะพะงัน
ที่มาข้อมูล thaipublica