6 ประเทศตัวอย่าง กับวิธีการจัดการปัญหาพลาสติกล้นเมือง

6 ประเทศตัวอย่าง กับวิธีการจัดการปัญหาพลาสติกล้นเมือง

กว่า 80% ของปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองที่ไหลลงสู่ทะเลกลายเป็นปัญหาระดับโลก ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย หลายประเทศได้ให้ความสนใจที่จะหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การออกนโยบายการจัดการขยะพลาสติกด้วยการเก็บภาษีสำหรับถุงพลาสติก การออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก การรณรงค์เรื่อง Recycle เป็นต้น วันนี้เรามาดู 6 ประเทศตัวอย่างกันว่า มีนโยบายจัดการ กำจัดและลดจำนวนขยะพลาสติกที่น่าสนใจอย่างไร

1. ประเทศสวีเดน ประเทศที่ขาดแคลนขยะ 

ในปี 1940 ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกยังไม่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง แต่ประเทศสวีเดนได้เริ่มต้นโครงการคัดแยกขยะ และ นำขยะที่คัดแยกแล้วกลับมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศสวีเดนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานได้โดยแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษใด ๆ นอกจากนี้ขยะในประเทศสวีเดนสามารถนำไป reuse ได้กว่า96%  

นอกจากนี้ ประเทศสวีเดนยังมีโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศถึง 810,000 ครัวเรือน จนทำให้ขาดแคลนขยะที่จะนำไปแปรรูปเป็นพลังงานในประเทศ จึงต้องซื้อขยะจากประเทศอื่น ๆ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่เก็บเงินค่าขวดพลาสติกจากผู้บริโภค หากผู้บริโภคไม่นำขวดพลาสติกที่ใช้เสร็จแล้วไปคืน ณ จุดรับคืน และ ในปัจจุบันสวีเดนยังคงให้ความสนใจกับปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ด้วยการริเริ่มระบบมัดจำถุงพลาสติก โดยมีราคาอยู่ที่ 1.86 บาท ต่อใบ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคนำถุงพลาสติกมาคืนก็จะได้รับเงินคืนเพื่อเป็นการป้องกันการทิ้งถุงพลาสติกไปอย่างเสียเปล่า

2. ประเทศเยอรมนี ประเทศแห่งขยะรีไซเคิล

ในปี 1996 ประเทศเยอรมนีได้ออกกฎหมายควบคุมขยะมูลฝอยในทุกภาคส่วนของประเทศไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการผลิต จำหน่าย หรือ บริโภค รวมถึงให้คัดแยกขยะก่อนทิ้งทุกครั้ง นอกจากนี้มีการเก็บภาษีรีไซเคิลจากร้านค้าทุกร้านที่มีถุงพลาสติกแจกลูกค้า และ ยังมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคส่งคืนขวดเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวทำให้บริษัทเครื่องดื่มต่าง ๆ ในประเทศ เลือกที่จะผลิตขวดพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ออกสู่ตลาด เพราะการผลิตขวดพลาสติกใช้ซ้ำช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมากหากเทียบกับการผลิตขวดพลาสติกใหม่ โดยในปีแรกหลังจากที่ได้ดำเนินนโยบายนี้ จำนวนขวดพลาสติกในท้องตลาดของประเทศเยอรมนีเป็นขวดพลาสติกชนิดใช้ซ้ำได้ถึง (multi-use bottles) 64% และ ต่อมาจำนวนการเลือกใช้ขวดพลาสติกชนิดใช้ซ้ำได้ก็ลดลงเหลือดพียงแค่ 46%

3. ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีวิธีการจัดการขยะมากมาย

ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในประเทศมาก ประชากรชาวญี่ปุ่นทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการจัดการขยะ ประกอบกับการออกกฎหมายสำหรับการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งนำมาบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในด้านการจัดการขยะสูง

ในปี 2002 ประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งเสริมให้นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยคำนึงถึงหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) จึงได้มีการออกกฎหมายเฉพาะตามลักษณะของผลิตภัณฑ์  เช่น  การคัดแยกขยะ การจัดเก็บภาษีถุงพลาสติก กฎหมายรีไซเคิลต่าง ๆ เช่น ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยะเศษอาหาร ขยะจากการก่อสร้าง และยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เป็นต้น  กฎหมายดังกล่าวทำให้ประเทศญี่ปุ่นลดการทิ้งขยะจากประชากรในประเทศได้ถึง 40%

4. ประเทศบังกลาเทศ ปรับผู้ใช้พลาสติกหนักถึง 2,000 ดอลลาร์

ในปี 2002 ประเทศบังคลาเทศได้ประกาศกฎหมายห้ามผลิตและงดแจกถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้อ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับครั้งละ 2,000 ดอลลาร์ เนื่องจากในปี 1988 และ ปี 1998 ประเทศบังคลาเทศได้เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ สาเหตุเพราะขยะพลาสติกจำนวนมากไปอุดตันในท่อระบายน้ำ มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ประชากรในประเทศไม่กล้าใช้และทิ้งถุงพลาสติกตามท้องถนน จึงทำให้ปริมาณขยะจากถุงพลาสติกลดลงอย่างมาก 

5. ประเทศอังกฤษ เก็บภาษีถุงพลาสติก และห้ามใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง

ในปี 2015 ประเทศอังกฤษได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในร้านค้าใหญ่ ๆ ใบละประมาณ 2.14 บาท และ ยังมีแผนที่จะนำระบบมัดจำขวดพลาสติกมาใช้ ห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ และ ก้านสำลีแคะหู วิธีการดังกล่าวทำให้ประเทศอังกฤษสามารถลดการใช้พลาสติกได้มากกว่า 80% ส่งผลให้สามารถลดงบประมาณค่ากำจัดขยะมูลฝอยได้ 60 ล้านปอนด์ และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 13 ล้านปอนด์ 

6. ประเทศไต้หวัน ห้ามใช้พลาสติกในประเทศ 

ในปี 2018 ประเทศไต้หวันได้ประกาศใช้มาตรการห้ามใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะห้ามอย่างครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2030 โดยในปัจจุบัน ร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไต้หวัน ได้งดการให้หลอดดูดพลาสติกในร้านอาหาร และ ภายในปี 2050 ประชากรในประเทศจะต้องจ่ายเงินหากมีการใช้หลอดพลาสติกอยู่ นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก แต่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าอย่างแน่นอน

หันกลับมามองที่ประเทศไทยของเรานั้น ได้ติดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ท้องทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และ เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกปริมาณมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ในขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รวม 43 ภาคี มีมติในที่ประชุมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะมีการนำร่องงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 100% ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ อาทิ ห้างเซ็นทรัลฯ เดอะมอลล์ บิ้กซี เซเว่น อีเลฟเว่น โลตัส เป็นต้น รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้เลือกใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนการใช้พลาสติกสำหรับหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม การรณรงค์เลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร รวมถึงช้อน ส้อม มีด แก้วน้ำ หลอดดูดพลาสติก โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2022 ประเทศไทยจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ถึง 3,900 ล้านบาทต่อปี

วันนี้ หากคุณได้ตระหนักถึงปัญหาที่ทุกคนบนโลกได้ประสบอยู่ในขณะนี้ ลองเริ่มต้นช่วยกันลดการใช้พลาสติกง่าย ๆ ในทุก ๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน หันมาเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ เรียนรู้วิธีจัดการกับขยะอย่างถูกต้อง ถึงแม้ว่าขยะจากพลาสติกที่กำลังล้นเมืองจะไม่ได้หมดไปในทันที แต่อย่างน้อย คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขยะเหล่านั้นลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในทุกวัน

เรียบเรียงโดย BLOG.SCGLogistics

อ้างอิงบทความจาก brandage.com

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่