น้ำมันเครื่องรถยนต์มีกี่แบบ เลือกแบบไหนดีที่สุด
น้ำมันเครื่อง สิ่งที่คนขับรถทุกคนควรทำความเข้าใจไว้เพื่อการบำรุงรักษารถยนต์ได้อย่างถูกต้อง น้ำมันเครื่องมีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร เปลี่ยนน้ำมันเครื่องรุ่นไหนดี ลองมาดูวิธีเช็กเกรดน้ำมันเครื่องแบบง่าย ๆ กัน
หนึ่งในค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรถยนต์บ่อยที่ต้องควักเงินจ่ายกันบ่อยที่สุดคือ การเปลี่ยน น้ำมันเครื่อง เพราะเมื่อใช้รถถึงเวลาหรือถึงระยะทางที่กำหนดคุณภาพของน้ำมันเครื่องจะเริ่มเสื่อม การหล่อลื่น หล่อเย็นภายในเครื่องแย่ลง เครื่องอาจจะทำงานไม่ราบรื่น และหากไม่ได้ใส่ใจดูแลให้ถูกต้อง ความเสียหายก็อาจจะกลายเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน
ขณะที่คำถามเกิดขึ้นสำหรับทุกคนก็คือ น้ำมันเครื่องรุ่นไหนดี หรือ น้ำมันเครื่องยี่ห้อไหนดี ฉะนั้นก่อนอื่นเลยคงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องกัน ว่าน้ำมันเครื่องมีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร
1. น้ำมันเครื่องมีกี่ประเภท
สำหรับน้ำมันเครื่องที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและตามศูนย์บริการนั้น โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีคุณสมบัติแตกต่างกันไปดังนี้
- น้ำมันเครื่องธรรมดา (Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม ใช้งานได้ประมาณ 3,000-5,000 กม.
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นธรรมดากับชนิดสังเคราะห์ ใช้งานได้ประมาณ 5,000-7,000 กม.
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่สังเคราะห์จากน้ำมันปิโตรเลียม ใช้งานได้ประมาณ 7,000-10,000 กม.
แน่นอนว่าการเลือกใช้งานน้ำมันเครื่องแบบไหน ย่อมขึ้นอยู่กับงบประมาณและอาจจะดูถึงลักษณะการขับขี่ของแต่ละคน เพราะน้ำมันเครื่องแบบธรรมดาราคาย่อมถูกกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ขณะที่น้ำมันเครื่องของแต่ละแบรนด์ ยังอาจจะมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างกันไปตามข้อมูลที่ระบุด้วย
2. การอ่านค่าของน้ำมันเครื่อง
“SM” คือค่า API (American Petroleum Institute Standard) กำหนดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับน้ำมันเครื่องแบบสากลทั่วโลก
มาตรฐาน API หากเป็นน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินจะขึ้นต้นด้วย “S” เช่น API SM หรือ API SL ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลจะขึ้นต้นด้วย “C” เช่น API CJ-4 หรือ API CI-4 โดยเช็กรายละเอียดได้ที่ www.api.org (ยิ่งปีเก่าเท่าไรมาตรฐานก็ต่ำลง)
API SN มาตรฐานคุณภาพระดับสูงสุดของน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์เบนซิน ให้มาตรฐานประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น ป้องกันเทอร์โบชาร์จเจอร์ เข้ากับระบบควบคุมการปล่อยไอเสีย และเครื่องยนต์ที่ทำเพื่อรองรับน้ำมัน E85 ประกาศใช้เดือนตุลาคม ในปี 2010
API SM ประกาศใช้เมื่อปี 2010
API SL ประกาศใช้เมื่อปี 2004
API SJ ประกาศใช้เมื่อปี 2001
CK-4 มาตรฐานคุณภาพระดับสูงสุดของน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซล ประกาศใช้เมื่อปี 2017
CJ-4 ประกาศใช้เมื่อปี 2010
CI-4 ประกาศใช้เมื่อปี 2002
CH-4 ประกาศใช้เมื่อปี 1998
“10W-30” คือค่ามาตรฐานจาก SAE (The Society of Automotive Engineer) ซึ่งเป็นสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยค่าชุดเลขตัวแรก “10W” ค่าการทนความเย็นของน้ำมันเครื่อง ดังนี้
W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
5W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -30 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
10W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -20 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
15W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง -10 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
20W = สามารถคงความข้นใสไว้ได้ถึง 0 องศาเซลเซียส โดยไม่เป็นไข
ชุดเลขตัวที่สอง “30” บอกถึงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องที่มีตั้งแต่ 60, 50, 40, 30, 20, 10 และ 5 โดยตัวเลขมีความหนืดมาก ตัวเลขน้อยมีความหนืดน้อยตามลำดับ โดยความหนืดของน้ำมันมีผลต่อการหล่อลื่นและช่วยลดการสึกหรอได้มาก โดยความหนืดที่เหมาะสมสำหรับเครื่องยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 20-40
ทริกที่หลายคนเลือกเปลี่ยนน้ำมันเครื่องคงเป็นเรื่องค่าความหนืด เพราะอุณภูมิอากาศในไทยต่อให้ใช้ 20W ก็ยังไม่น่ากังวล เครื่องยนต์ใหม่ก็มักไปเริ่มกันที่ “40” และปรับให้หนืดขึ้นเมื่ออายุเครื่องยนต์เพิ่ม เพื่อให้เครื่องฟิตขึ้น..
3. การดูน้ำมันเครื่องสูตรพิเศษ
น้ำมันเครื่องหลายชนิดในตอนนี้มีการบอกว่าเหมาะสมกับประเภทการใช้งาน ตัวอย่างเช่น
- For NGV, LPG & Gasoline – สามารถใช้ได้ดีกว่าสำหรับรถที่ติดแก๊ส NGV และ LPG
- Heavy Duty – ใช้ได้ดีสำหรับรถที่บรรทุกของหนัก
สรุปแล้วทั้ง 3 ข้อนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้ไปว่าน้ำมันเครื่องแบบไหนเหมาะสมกับรถยนต์ของคุณ เลือกใช้ได้แน่นอน ที่เหลือก็คือการพิจารณาเรื่องของราคา และยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้น้ำมันเครื่องที่ตรงกับความต้องการและคุ้มค่ามากที่สุด
ที่มา https://car.kapook.com/