ปัญหาขยะ ปัญหาที่นานาชาติตื่นตัว
หลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก การจัดการขยะ ได้กลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นานาชาติตื่นตัว เมื่อพ.ศ. 2555 ธนาคารโลก ได้ระบุว่าประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน คาดว่าภายในปี 2568 ขยะอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หลายประเทศจึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการปัญหานี้
.
ฟินแลนด์ ประเทศซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องแรกๆ ได้แก้ปัญหาขยะผ่านนโยบายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และเน้นการแก้ปัญหาโดยใช้นโยบาย เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ รีไซเคิลหรือนำเอาวัตถุสิ่งของเหลือใช้มาผ่านกระบวนการปรับแต่งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ขณะที่ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ก็ใช้วิธีจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการนำมาดัดแปลงซ่อมแซมเพื่อเพิ่มมูลค่า และนำออกจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งจัดตั้ง จัดตั้งศูนย์การจำหน่าย ขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร แนวทางนี้ ช่วยจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เฉลี่ยปีละ 50 ล้านกิโลกรัม
.
ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศนี้ นอกจากจะใช้นโยบายรีไซเคิลขยะอย่างจริงจังจนมีอัตราการรีไซเคิลขยะสูงกว่า 80% แล้ว ยังใช้นโยบายจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจากบ้านเรือน ด้วยการจัดระบบการทิ้ง การเก็บขยะแต่ละประเภทตามวัน กำหนดแนวทางให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จัดการขยะภาคครัวเรือนด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม หากครัวเรือนใดไม่แยกขยะก็จะต้องจ่ายค่าปรับ พร้อมทั้งพัฒนาแนวทางในการแปรรูปขยะชนิดต่างๆ ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น นำเศษอาหารไปเป็นพลังงานชีวภาพ นำขยะพลาสติกไปสร้างทางจักรยาน
.
ด้านประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะมีการจัดการขยะในภาพรวมที่ดี แต่เมื่อพบว่ายังประสบปัญหาเรื่องขยะอาหารในอัตราที่สูงก็พยายามแก้ไขโดยใช้แนวทางจัดการที่กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปริมาณเศษอาหารที่ตัวเองก่อขึ้น ด้วยการสร้าง “ถังขยะอัจฉริยะ” กำหนดจุดให้ประชาชนนำขยะอาหารมาชั่งน้ำหนักและทิ้ง ถังอัจฉริยะจะคำนวณค่าใช้จ่ายจากการทิ้งและส่งเป็นบิลเรียกเก็บไปยังบ้านผู้ทิ้ง ยิ่งลดปริมาณอาหารเหลือค่าใช้จ่ายด้านนี้ก็ยิ่งลดลง ขณะเดียวกันขยะอาหารที่รวบรวมได้ก็นำไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างก๊าซชีวภาพ และน้ำมันไบโอดีเซล แล้วนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน กากขยะอาหารจากภาคการผลิตนี้ถูกนำไปทำปุ๋ยใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร และครัวเรือน หรือถูกนำไปทำอิฐบล็อกใช้ในการก่อสร้าง แนวทางนี้ช่วยให้ขยะเศษอาหารในเกาหลีใต้ลดลงถึง 47,000 ตัน ภายในเวลา 6 ปี
.
ด้านประเทศฝรั่งเศส ได้ออกกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น มีด ส้อม ช้อน จาน และแก้ว ที่ทำจากพลาสติก และเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง กฎมายฉบับนี้ ระบุอีกว่า การจำหน่ายหรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานอาหารที่เป็นพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่างน้อย 50 % เท่านั้น ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกของโลก ที่ออกกฎหมายกำกับพลาสติกส่วนประกอบอื่นๆ ในธุรกิจอาหารนอกเหนือจากถุงหรือกล่องบรรจุ
.
แม้แต่ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาทั่วโลก ก็หันมาตื่นตัวกับปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติก ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหานี้ กำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้อุตสาหกรรมพลาสติกมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม หรือกระทั่งประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติก
.
ประเทศไทยเองนอกจากจะมีแนวทางการจัดการขยะอย่างหลากหลายและเข้มข้นขึ้นทุกปีแล้ว ยังมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะโดยเฉพาะพลาสติกในระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) อีกด้วย โดยกำหนดแผนการดำเนินการ ว่า ใน พ.ศ. 2565 พลาสติก 2 ชนิดจะถูกยกเลิกใช้คือ ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร รวมถึงกำหนดให้เลิกใช้แก้วน้ำพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและหลอดพลาสติก ในพ.ศ. 2568 นอกจากนี้ยังได้วางเป้าหมายลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ให้ได้ 70 % ภายในปี พ.ศ. 2580
.
ยังมีตัวอย่างการจัดการขยะในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ทั้งที่เป็นนโยบายที่ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นนโยบายที่ถูกคิดขึ้นใหม่เพื่อให้เท่าทันปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอีกมากมาย ด้วยความหวังที่จะได้เห็นตัวเลขปัญหาขยะทั่วโลกดีขึ้น ๆ ในอนาคต
.
ที่มา
http://www.worldatlas.com/…/which-countries-have-banned…
http://www.talesbytrees.com/why-is-finland-the-greenest…
ec.europa.eu/info/news/oslo-starts-its-year-european-green-