ผลกระทบต่อร่างกายจากฝุ่น PM2.5
ฝุ่นละอองขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เราเริ่มได้รู้จักกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งมลพิษที่จะอยู่คู่กับคนไทยไปอีกยาวนาน เพราะสาเหตุหลักสำคัญนั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดยังต้องอาศัยเทคโนโลยีและแนวทางจัดการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างยั่งยืน
ดังนั้นเมื่อเรายังต้องเผชิญไปอีกพักใหญ่ สิ่งที่จะทำได้คือการรู้เท่าทันความอันตราย หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการใช้ชีวิต เพื่อให้มีผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายน้อยที่สุด
PM2.5 มีความอันตรายต่อร่างกายสูง เป็นอีกหนึ่งเสียงยืนยันจาก ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หัวหน้าโครงการวิจัย “ความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในเชียงใหม่และลำพูน”
เขาอธิบายความอันตรายว่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กมากพอที่จะหายใจเข้าไปสู่ปอด และซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นแล้วผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจึงมีทั้งแบบ “เฉียบพลัน” (เห็นผลใน 1-2 วัน) ซึ่งส่วนมากจะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน หากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคัน เป็นตุ่มได้
ส่วนผลแบบ “เรื้อรัง” (ค่อยๆ สะสมแล้วแสดงผลในระยะยาว) คือ เส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต การเป็นมะเร็งปอดเพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) อีกระบบคือเข้ารกไปทำอันตรายเด็กในท้อง ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ติดเชื้อง่าย ทุพโภชนาการ และเป็นโรคออทิสซึม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก
นอกจากอาการเจ็บป่วยข้างต้นแล้ว อีกโรคหนึ่งที่น่าตระหนักถึงความอันตรายของฝุ่น PM2.5 คือ “โรคถุงลมโป่งพอง” ซึ่งมีความอันตรายเช่นเดียวกับการ “สูบบุหรี่” โดย ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ อธิบายเพิ่มเติมว่า การเกิดถุงลมโป่งพองมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปที่ปอด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ
“เม็ดเลือดขาวกินฝุ่นพวกนี้เพื่อรักษาร่างกายแต่ไม่สามารถย่อยได้จึงตายแล้วปล่อยเอนไซม์ที่เป็นน้ำย่อยมาย่อยผนังปอดอีกทีหนึ่ง ทำให้ถุงลมนับร้อยในปอดแตกออกเหลือเป็นถุงเดียว พื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซลดเหลือน้อยลง และทำให้เกิดอาการเหนื่อย ดังนั้นเมื่อเราสูดหมอกควันเข้าไปมาก ๆ จึงเป็นเสมือนการสูบบุหรี่” เขาระบุ
ดังนั้น ข้อสรุปคือทุกคนจึงควรป้องกันการรับฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) เพราะมีความต้านทานโรคน้อยและส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว รองลงมาคือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย อีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะมีผลกระทบโดยตรง คือ ผู้ป่วยโรคปอด และโรคหัวใจ ซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นเข้าไปอาจทำให้อาการกำเริบจนเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีการป้องกัน นอกจากการใส่หน้ากากมาตรฐาน N95 (ป้องกันได้ 95%) ศาสตราจารย์รายนี้แนะนำว่า หากไม่สามารถหาซื้อได้หรือสวมใส่แล้วไม่สบาย สามารถใส่หน้ากากอนามัยทั่วไปซ้อน 2 ชั้น หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำแทนได้ โดยในช่วงที่มีการประกาศว่าค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และงดออกกำลังกายในพื้นที่เปิดหรืออาคารที่ไม่ได้ปิดมิดชิด เพราะจะทำให้มีการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมากขึ้น แม้อาศัยอยู่ในบ้านก็ควรลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น การปัดกวาดฝุ่น (ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดแทน) การจุดธูปเทียน และการทำอาหารในบ้าน เป็นต้น
ที่มา: Research Cafe’ สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.)