คาร์บอนฟุตพริ้นท์

คาร์บอนฟุตพริ้นท์

ข้อมูลจาก guru.sanook.com สรุปว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. กล่าวถึงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึงภาคครัวเรือนในฐานะผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ อบก. จึงได้กำหนดมาตรฐานฉลาก และ/หรือ เครื่อง หมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนผลิตภัณฑ์เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย โดย Pontawan Jansuk สรุปใน pontawan.blogspot.com ว่าข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แสดงบนฉลากคาร์บอน (Carbon Labeling) จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าใด อีกทั้งสามารถช่วยวัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ถูกแนะนำขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรช่วงเดือนมีนาคม 2550 ภายใต้การกำกับดูแลของ Carbon Trust

• การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะต้องทำการพิจารณาจากกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ

• การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Primary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวน การผลิต และการขนส่งทั้งโดยรถบรรทุก ทางเรือ และทางอากาศ

• การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อม (Secondary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ ตลอดจนการจัดการซากสินค้าหลังการใช้งาน

• ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ข้อมูลจาก pontawan.blogspot.com อธิบายว่า การแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ มีลักษณะคล้ายกับป้ายบอกจำนวนแคลอรี่และสารอาหาร ในสหรัฐอเมริกาแบ่งรูปแบบของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

• ฉลาก Low-Carbon Seal เป็นฉลากประเภทที่ไม่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติด ดังนั้นผู้บริโภคจะไม่ทราบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในภาคการผลิตสินค้า

• ฉลาก Carbon Score เป็นฉลากประเภทที่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้บริโภคจะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการผลิตสินค้า ระหว่างสินค้าแต่ละชนิด หรือชนิดเดียวกัน เพื่อเปิดให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

• ฉลาก Carbon Rating มีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดพลังงาน (ซึ่งนิยมใช้รูปแบบนี้ในสหภาพยุโรป) โดยฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะแบ่งกลุ่ม โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาวจาก 1 ถึง 5 ดาว หากสินค้าใดได้ดาวจำนวนมาก หมายถึง สินค้าชนิดนั้นๆ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสินค้าที่ได้ดาวน้อยดวง

สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกันกำหนดมาตรฐานฉลากคาร์บอน โดยกำหนดเป็น 5 สี 5 เบอร์ ได้แก่

• ฉลากคาร์บอน เบอร์ 1 ฉลากสีแดง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 10%

• ฉลากคาร์บอน เบอร์ 2 ฉลากสีส้ม แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 20%

• ฉลากคาร์บอน เบอร์ 3 ฉลากสีเหลือง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 30%

• ฉลากคาร์บอน เบอร์ 4 ฉลากสีนํ้าเงิน แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 40%

• ฉลากคาร์บอน เบอร์ 5 ฉลากสีเขียว แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 50%

นับวันพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ทีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นข้อมูลฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จึงเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจซื้อและใช้พิจารณาข้อมูลว่าผู้ผลิตรายนั้นๆ ได้ใส่ใจต่อการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ช่วยสร้างความโดดเด่นให้แก่แบรนด์สินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย อีกทั้งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของภาคการผลิตด้วย 

เครดิต ฐานเศรษฐกิจ

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่