9 ปีคุ้มทุนก๊าซชีวภาพ ณ บจก.นามหงส์พาวเวอร์
เมื่อประมาณปี 2551 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นปีแรก เพื่ออุดหนุนการก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพในแก่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆที่ก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพและนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง ในสมัยนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ สถาบันพลังงาน มช. ได้ดำเนินการทดลองการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ผลที่ได้จากการทดลองดังกล่าว ได้นำมาเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการออกแบบเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพในโรงงานน้ำมันปาล์ม
ในขณะนั้น บริษัท นามหงส์น้ำมันปาล์ม จำกัด ได้ให้ความสนใจในการลงทุนก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าขายคืนให้แก่การไฟฟ้า ทางสถาบันพลังงาน มช. จึงติดต่อกับทางบริษัทฯ เพื่อนำเสนอและแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ กับทางโรงงานของบริษัทฯ และเมื่อบริษัทฯได้พิจารณาถึงความคุ้มทุนและประโยชน์ในการติตั้งระบบก๊าซชีวภาพ จึงได้เลือกสถาบันพลังงาน มช. เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบควบคุมการก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพแบบ Hybrid Cover Lagoon ปริมาตร 20,000 ลบ.ม. ใช้โครงสร้างที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการกวนผสม มีระบบนำกากตะกอนออกรู
โดยใช้เวลาก่อสร้างและติดตามผลเป็นระยะเวลา 1 ปีพบว่าระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามที่คาดหวัง โดยเริ่มเดินระบบประมาณมี 2554 – 2555 กำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งที่ 2 เมกกะวัตต์ ในระยะแรกและเพิ่มเป็น 3 เมกกะวัตต์เมื่อทางโรงงานได้วางแผนขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานในเวลาต่อมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มตันการผลิตไฟฟ้าจนถึงปี 2559 ทางโรงงานได้เริ่มมองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพเพิ่มเติม เนื่องจากของเสียที่จะมีมากขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตในอนาคต
สถาบันพลังงาน มช. ได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาของโรงงานอีกครั้ง โดยในการลงทุนครั้งนี้ทาง สถาบันพลังงาน มช. และโรงงานมีความเห็นร่วมกันว่า ระบบที่จะก่อสร้างใหม่นั้น ควรเป็นระบบถังกวนสมบูรณ์แบบไม่ใช้อากาศแบบ “CSTR” (Continuous Stirred Tank Reactor) ขนาดปริมาตร 9,000 ลบ.ม. เนื่องจากใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยและใช้ระยะเวลาการก่อสร้างสั้นกว่าระบบอื่นๆ
ระบบ CSTR เริ่มเดินระบบในปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการขยายโรงงานที่ใกล้แล้วเสร็จ ปัจจุบันทางโรงงานสามารถผลิตไฟฟ้าที่กำลังผลิต 2 เมกกะวัตต์ได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง และอีก 1 เมกกะวัตต์ได้วันละ 13 ชั่วโมง รวมแล้วใน 1 วันทางโรงงานสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 61,000 หน่วย
จนถึงเมื่อปี 2563 ระบบแรกที่ได้ก่อสร้างนั้นมีอายุกว่า 9 ปี เริ่มมีการสะสมตัวของกากตะกอนภายในบ่อ และแผ่น PVC คลุมเก็บก๊าซชีวภาพมีอายุครบการใช้งานแล้ว ทางโรงงานจึงได้ดำเนินการเปิดบ่อ เพื่อทำการลอกตะกอนและเปลี่ยนแผ่น PVC เก็บแก๊สผืนใหม่ พบว่าระบบก๊าซชีวภาพแบบ Hybrid Cover Lagoonโครงสร้างคอนกรีตยังคงสภาพดี แม้ผ่านการใช้งานมา 9 ปี เป็นการการันตีได้ว่าโครงสร้างคอนกรีต ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในการลงทุนในระบบก๊าซชีวภาพได้อย่างเห็นผล
นี่คือ อีกหนึ่งความภูมิใจของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท นามหงส์พาวเวอร์ จำกัด มาตลอดในระยะเวลา 9ปีที่ผ่านมา โดยทางสถาบันฯได้ทำการติดตาม ให้คำแนะนำ กับทางบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ ในระบบก๊าซชีวภาพที่สถาบันฯเป็นผู้ออกแบบและพัฒนา เพื่อให้บริษัทได้ประโยชน์ คุ้มทุนในการลงทุน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนและสังคมอีกด้วย
บทความ โดย บดินทร์ ลือเลิศยศ ,วิศวกรผู้ดูแลโครงการ
เรียบเรียง โดย กรรณิการ์ เหย่าตระกูล ,งานประชาสัมพันธ์