City Gas Grid เต่างอย โมเดล การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน (SDGs)
City Gas Grid เต่างอย ผลผลิตจากงานวิจัยก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG )ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อคนในชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน (SDGs)
โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ” เป็นโครงการเพื่อศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดสำหรับทดแทนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในระบบท่อส่งก๊าซ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยเล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานในชุมชน ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบข้างบริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กับ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สถาบันพลังงาน มช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ร่วมมือกับบริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ประสานงานกับผู้นำบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ในการนำก๊าซ CBG ที่ได้ไปใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) และนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างพอเพียง สร้างความยั่งยืนในชุมชน ลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ
ตอบโจทย์แก้ปัญหาโลกร้อน (SDG13) และ พลังงานสะอาดราคาถูก ทันสมัย ยั่งยืน เสถียร และราคาไม่แพงสำหรับคนในชุมชน (SDG7)
สถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิต มาผ่านกระบวนการของระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane System) สามารถผลิตได้ 262.81 kg Biomethane/day เมื่อเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day โดยมีราคาต้นทุน 12 บาทต่อกิโลกรัม สามารถมาทดแทนก๊าซหุงต้มได้ถึงประมาณ 75,000 กิโลกรัม/ปี (ที่การเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day) คิดเป็นมูลค่าถึง 1,668,000 บาท/ปี (คิดที่ราคา LPG 22.24 บาทต่อกิโลกรัม , ม.ค. 64) สามารถลดการปล่อยก๊าซ 168 tCO2/ปี และจากการทดสอบก๊าซ CBG พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายให้กับชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 280 ครัวเรือน
SDG11 การวางแผนของบริหารจัดการการเมืองและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืน
ชาวบ้านเต่างอย เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ร่วมกันดำเนินการสานต่อโครงการฯ ดังกล่าวต่อจากสถาบันฯ
จากผลการดำเนินการดังกล่าว ชาวบ้านจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) จึงร่วมกันดำเนินการสานต่อโครงการฯ ดังกล่าวต่อจากสถาบันฯ โดยวิสาหกิจชุมชนได้จัดตั้งคณะกรรมการมาบริหารจัดการสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) โดยเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ มีการกำหนดกฏระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ มีทีมบริหารจัดการดูแลระบบ มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม บริหารพลังงานทดแทนด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่มั่นคงในขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านมีพลังงานทดแทนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ สู่ เต่างอยโมเดล CBGสร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ในการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียมาผลิตพลังงานเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ทดแทน LPG เพื่อใช้ในชุมชน