เปิดสาเหตุ ทำไมค่าไฟแพง

เปิดสาเหตุ ทำไมค่าไฟแพง

วิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ออฟฟิศส่วนใหญ่มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home และรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือประชาชน หนึ่งในนั้น คือการลดค่าไฟฟ้า 3% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ระยะเวลา 3 เดือน เริ่มเดือน เม.ย.นี้

  • ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายบ้าน ณ ขณะนี้ เมื่อพบว่าบิลค่าไฟเดือนล่าสุดมีราคาแพงสูงมากๆ จนเกิดแฮชแท็กติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ #ค่าไฟแพง หลายๆ คนแสดงความคิดเห็นดุเดือด ตั้งข้อสงสัยทั้งๆที่เดือนที่ผ่านมา ใช้ไฟฟ้าไม่ต่างจากเดิม แต่ทำไม? ค่าไฟแพงขึ้นสูงลิ่วผิดปกติ และการลดค่าไฟ 3% จึงเปล่าประโยชน์ ไม่มีความหมาย
  • ทุกๆปี ในช่วงเดือน เม.ย. ร้อนมหาโหด ค่าไฟเกือบทุกบ้านแพงขึ้น พร้อมคำพร่ำบ่นอ้างว่ามิเตอร์ไฟโดนโกงแน่ๆ และยิ่งวิกฤติโควิดครั้งนี้ในห้วงเดือน เม.ย. อุณหภูมิสูงขึ้น มีการทำงานจากที่บ้าน ก็ยิ่งทำให้ค่าไฟยิ่งแพงขึ้น เพราะเปิดทั้งไฟ เปิดทั้งแอร์ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงก็เป็นไปได้
  • ปกติแล้วในฤดูร้อน อุณหภูมิข้างนอกสูงขึ้น ได้ทำให้เครื่องทำความเย็น ทั้งแอร์หรือตู้เย็นไม่ตัดไฟ ทำให้ทำงานนานขึ้น แตกต่างจากฤดูอื่น จึงทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น อีกอย่างการเปิดตู้เย็นบ่อยๆ แช่ของมากเกินไป ไม่จัดระเบียบ
  • อัตราค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัย คิดแบบอัตราก้าวหน้า เมื่อใช้ไฟมากขึ้น ค่าไฟฟ้าบาทต่อหน่วยจะมากขึ้นตามไปด้วย ควรเปิดแอร์ 26 องศา ขึ้นไป เพราะทุกองศาที่เพิ่มขึ้น จะลดค่าไฟได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเปิดพัดลมช่วย เวลานอนให้ปรับอุณหูมิแอร์สูงขึ้น เพราะขณะหลับอุณหภูมิในร่างกายจะลดลง และควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศแอร์เดือนละครั้งด้วยตนเอง
  • ยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด หลายครอบครัวกักตุนอาหารจำนวนมากในตู้เย็น หากไม่จัดระเบียบ หรือเคลียร์ตู้เย็น ลดปริมาณสิ่งของ จะทำให้กินไฟมากขึ้น และไม่ควรเปิดตู้เย็นบ่อยๆ หรือปิดให้สนิททันทีที่เปิดตู้เย็น จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าอีกด้วย
  • จากข้อมูลการไฟฟ้านครหลวง ระบุการคิดอัตราค่าไฟฟ้าในประเภทต่างๆ โดยบ้านที่อยู่อาศัยเป็นประเภทที่ 1 เมื่อใช้ไฟตั้งแต่หน่วยที่ 0-150 หน่วย จ่ายหน่วยละ 3.2484 บาท กรณีใช้ไฟตั้งแต่หน่วยที่ 151-400 หน่วย จ่ายหน่วยละ 4.2218 บาท และใช้ไฟตั้งแต่หน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายหน่วยนะ 4.4217 บาท ซึ่งราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % , ค่าบริการ และหักส่วนลดค่า FT (คำนวณอัตราค่าไฟด้วยตัวเอง)

นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. เคยคลายข้อสงสัยทำไมค่าไฟแพงกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ เพื่อให้คำตอบกับหลายๆ คนที่ตั้งคำถามทั้งๆ ที่เปิดแอร์เวลาเดิม ยกตัวอย่าง ปกติเปิดแอร์ 2 ทุ่ม และปิดในช่วง 6 โมงเช้าเหมือนทุกๆ วัน แต่ค่าไฟกลับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้สงสัยว่าการไฟฟ้าฯ แอบขึ้นค่าไฟหรือไม่ แต่ความจริงแล้วในช่วงหน้าร้อนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำงานนานมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานอย่างหนัก และบางเครื่องไม่มีการตัด เนื่องจากยังทำอุณหภูมิโดยรอบไม่ได้

“ความจริงการไฟฟ้าฯ ไม่ได้ขึ้นค่าไฟ และช่วงหน้าร้อนในทุกๆ ปี มีคนบ่นมากเรื่องค่าไฟที่สูงขึ้น ก็เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนัก จึงอยากแนะนำเพื่อไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมาก โดยเฉพาะแอร์ อยากให้หมั่นล้างทำความสะอาดแผ่นกรอง ปีละ 2 ครั้ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และที่สำคัญประหยัดค่าไฟฟ้ามากถึง 5-10%”

เมื่ออากาศร้อน หลายคนมีการปรับอุณหภูมิแอร์ให้ลดลงตามความต้องการ จะทำให้เปลืองไฟสิ้นเปลืองเงิน จึงอยากให้ปรับแอร์ให้อยู่ที่อุณหภูมิ 26 องศาฯ ให้เหมาะสมกับร่างกาย จะทำให้ประหยัดค่าไฟ หรือหากเป็นไปได้ให้เปลี่ยนแอร์เป็นระบบอินเวสเตอร์จะดีกว่า

ส่วนตู้เย็น มีการกินไฟเช่นเดียวกันหากมีพฤติกรรมชอบเปิดตู้เย็นบ่อยๆ และตุนอาหารในปริมาณมากๆ ในตู้เย็น ทำให้เครื่องทำงานหนักกินไฟเป็นอย่างมาก หรือมีสาเหตุมาจากขอบยางตู้เย็นชำรุด จึงควรหมั่นตรวจสอบ และควรปรับพฤติกรรมในการใช้ไฟ เช่น เปิดพัดลม เปิดไฟทิ้งไว้ และเปิดทีวีในหลายห้อง ควรเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยให้ประหยัดไฟ

ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุว่า หากประชาชน พบว่าค่าไฟแพงขึ้นผิดปกติ สามารถแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อให้ตรวจสอบได้ แต่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่าไฟที่เกินมาเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ไฟเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือช่วงนี้อยู่ในช่วงหน้าร้อน มีการเปิดแอร์มากเกินไปหรือไม่ แต่ค่าไฟคงไม่เพิ่มขึ้นมา 2-3 เท่าจากปกติ

“หากพบว่ามีการเพิ่มขึ้นมากจนผิดปกติ อาจเกิดไฟฟ้ารั่ว จากความผิดปกติของตัวมิเตอร์ไฟฟ้า หรือระบบไฟที่เกิดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะทำการชดเชยส่วนนี้ให้ และยังต้องพิจารณาดูประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังอีกด้วย”

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ 19 เม.ย. 2563 18:44 น.

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่