ถอดรหัส  รัฐใช้ 2.3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยาค่าไฟให้ครัวเรือน

ถอดรหัส รัฐใช้ 2.3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยาค่าไฟให้ครัวเรือน

ถอดรหัส รัฐใช้ 2.3 หมื่นล้านช่วยเยียวยาค่าไฟให้ครัวเรือน สุดท้ายใครต้องรับภาระ

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีวันนี้(21 เม.ย.2563)ก็มีมติเห็นชอบในมาตรการเยียวยาภาระค่าไฟฟ้าให้กับครัวเรือน ทั้งบ้านหลังเล็ก หลังใหญ่ ใช้ไฟน้อยใช้ไฟมาก ถ้วนหน้า 22 ล้านครัวเรือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่รอบบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเดือนมี.ค. เม.ย.และ พ.ค. 2563  คิดเป็นวงเงินที่ต้องใช้ประมาณ 23,688 ล้านบาท

โดยที่รัฐบาลต้องช่วยเรื่องนี้ก็เพราะเป็นช่วง 3 เดือนที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านตามสโลแกน work from home “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  เพื่อป้องกันความเสี่ยงช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 กำลังระบาด  ผลตามมาก็คือ การอยู่บ้านช่วงหน้าร้อน ทั้งเปิดแอร์ พัดลม ตู้เย็น ทีวี ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูง  การใช้ไฟแต่ละครัวเรือนเลยเพิ่มขึ้น  การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่คิดแบบอัตราก้าวหน้าเป็นขั้นบันได เลยทำให้ ค่าไฟในเดือน มี.ค. และเม.ย. พุ่งขึ้นมากกว่าเดือน ก.พ. อย่างเห็นได้ชัด  เสียงบ่นรัฐบาลเลยดังจนเป็นกระแสทางโซเชียลมีเดีย ให้รัฐบาลต้องหามาตรการมาเยียวยา

ซึ่งเท่าที่ติดตามดู หลังจากที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีพลังงาน ได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. และผู้บริหารทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 และได้ข้อสรุปออกมา เพื่อเสนอครม.เห็นชอบอย่างรวดเร็วคล้อยหลังเพียงวันเดียว เสียงตอบรับจากประชาชนดูเหมือนจะเป็นบวก มากกว่าเป็นลบ  ซึ่งในทางการเมืองถือว่าตอบโจทย์ คะแนนนิยมรัฐบาลได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า เงิน 2.3 หมื่นล้านบาทที่เอามาใช้ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าในครั้งนี้นั้น  จะมาจากไหน สุดท้ายใครต้องรับภาระ  ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีพลังงานมอบหมายให้ ทางกกพ. ไปช่วยหาแนวทางในการบริหารจัดการ

เท่าที่ทางทีมศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) ลองวิเคราะห์ดู ก็น่าจะมีทางเลือกให้พิจารณาดังนี้

1.ให้หน่วยงานการไฟฟ้ารับภาระ โดยในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศไทย  กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ทั้งไฟฟ้าจากต่างประเทศคือ สปป.ลาว จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือเอสพีพี (ยกเว้น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก หรือ วีเอสพีพี ขนาดไม่เกิน10 เมกะวัตต์ ทาง PEA และ กฟน. จะเป็นผู้รับซื้อ ) โดยมีราคารับซื้อตามที่ตกลงในสัญญา เมื่อรวมกับต้นทุนโรงไฟฟ้าที่กฟผ.ผลิตเองแล้ว บวกค่าจัดการสายส่ง บวกกำไร ก็ขายราคาส่งให้กับ PEA และ กฟน. ในฐานะที่เป็นฝ่ายจำหน่าย ที่ขายปลีกไปให้กับครัวเรือน  ดังนั้น เมื่อครัวเรือนได้รับทั้งให้ใช้ฟรี  และได้ส่วนลด  หาก กฟผ.ยังคงขายส่งในราคาเดิม ก็หมายความว่า  PEA และ กฟน.ต้องเป็นผู้รับภาระเงิน 2.3 หมี่นล้านบาทนี้  หรือ หาก กฟผ.ยอมลดราคาขายส่งลง กฟผ.ก็จะกลายเป็นผู้ร่วมรับภาระด้วย    โดยภาระดังกล่าว หากรัฐไม่มีมาตรการอื่นมาช่วย  ก็จะกระทบกับฐานะการเงินของทั้ง 3 การไฟฟ้า หมายถึงกำไรที่ลดลง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปถึงแผนการขยายธุรกิจ และการปันผลกำไรให้กระทรวงการคลัง  ซึ่งก็จะกระทบกับเงินที่จะไปจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินในที่สุด

2.รัฐใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณมาช่วยอุดหนุนภาระ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็คือเงินภาษีของประชาชนนั่นเอง

3.กกพ.ให้ทั้งสามการไฟฟ้าช่วยแบกรับภาระทางบัญชีเอาไว้ก่อน และค่อยนำภาระ 2.3 หมื่นล้านบาทที่เกิดขึ้น มาทะยอยบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟทีในภายหลัง  โดยแนวทางนี้ กกพ.เคยบริหารจัดการมาก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งในที่สุด ผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเอง ที่จะเป็นผู้รับภาระ

หันไปดูโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมค่าไฟของเรานั้น ถึงลดลงได้ยาก

โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1.ค่าไฟฟ้าฐาน ( ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ,ระบบสายส่ง ,ระบบจำหน่าย,ค่าผลิตพลังงานไฟฟ้าภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิงและผลตอบแทน ณ วันที่กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้า )  2.ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที ( สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุมเช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน ,ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐเช่น ค่าส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าหรือAdder  ค่าFeed in Tariff –FiT ,กองทุนพัฒนาไฟฟ้า)   3. ค่าบริการรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างไปตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย,กิจการขนาดเล็ก ,ขนาดกลาง ,ขนาดใหญ่ ,กิจการเฉพาะอย่าง,องค์การที่ไม่แสวงหากำไร ,กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว)และ 4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.61 บาทต่อหน่วย ต้นทุนส่วนใหญ่จะมาจากระบบผลิต ถึงประมาณ 79% รองลงมาคือค่าระบบจำหน่ายทั้งของPEAและ กฟน. ประมาณ 15%  และค่าระบบส่ง ประมาณ 7%  โชคดีที่ค่าเอฟทีตอนนี้ติดลบ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.6% เลยเอามาหักลบ ต้นทุนส่วนอื่นลงได้เล็กน้อย

ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งในระบบมีอยู่ประมาณ 46,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง  ดันปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจนล้นระบบ  โดยในแต่ละวัน พีคไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 25,000 เมกะวัตต์ จะเห็นว่ากำลังการผลิตที่เหลืออยู่กว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์นั้น  ส่วนหนึ่งต้องเดินเครื่องให้พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ในทันทีเพื่อความมั่นคง แต่อีกส่วนใหญ่ ต้องหยุดเดินเครื่อง เอาไว้  ซึ่งกำลังการผลิตส่วนเกินนี้  มีต้นทุนที่ถูกรวมเข้าไปอยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าด้วย   ในขณะเดียวกันการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปของAdder และ FiT  คิดเป็นต้นทุนที่บวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าประมาณ 24 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องช่วยแบกรับเอาไว้ให้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันรวมแล้ว มากกว่า 2 แสนล้านบาท

ต้องบอกว่าที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้พยายามช่วยเยียวยาผลกระทบเรื่องของค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ในช่วง 3 เดือนที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แม้จะพอบรรเทาค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้าลงไปได้บ้าง  แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป  ใครใช้มากก็ต้องจ่ายแพงมากขึ้น เพราะการคำนวณค่าไฟฟ้าคิดแบบอัตราก้าวหน้า  บวกกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงอยู่แล้ว ปรับลดลงได้ยาก

สรุปว่าวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ที่รัฐลดให้ตามมติครม.วันที่ 21 เม.ย. 2563  ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นแหละ ที่จะเป็นผู้ทยอยจ่ายคืน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในท้ายที่สุด

ทีมศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงาน 

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่