โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ

โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ

การหาพื้นที่จอดรถในชุมชนเมืองนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ใช้รถ เพราะพื้นที่สาธารณะในการจอดรถมีจำกัด ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การจอดในพื้นที่ห้ามจอด การจอดเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งนับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการจราจรในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง ส่งผลให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงโดยตรง

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน  เพื่อพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่การจอดรถและจัดทำแอพพลิเคชั่นพร้อมเซนเซอร์จอดรถอัจฉริยะ รองรับการพัฒนาเมือง Smart Cityภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการ และ หัวหน้าห้องวิจัย Smart Energy & Environmental Lab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า งานวิจัยและพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์ เป็นการนำเทคโนโลยี internet of things หรือ IOT มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับว่า “ช่องจอดรถยนต์ว่างหรือไม่” ซึ่งผู้ใช้รถยนต์ที่กำลังวนหาที่จอดสามารถตรวจสอบจำนวนพื้นที่ว่างได้จากแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยแยกเทคโนโลยีที่นำมาใช้ตรวจจับช่องจอดรถ ออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ (1) ที่จอดรถยนต์ประเภทนอกอาคาร จะใช้เซ็นเซอร์ที่ฝังพื้นใต้ที่จอดรถยนต์ มีหลักการตรวจการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetics sensor) สามารถตรวจจับรถที่มาจอดทับ หรือมาจอดใกล้ ๆ บริเวณที่มีเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่ และจะส่งสัญญาณไปยังระบบคลาวด์ผ่านอินเทอร์เน็ต (2) ที่จอดรถยนต์ประเภทในอาคาร จะใช้เซ็นเซอร์อัลตราโซนิคในการตรวจจับวัตถุที่เข้ามายังช่องจอดรถ ซึ่งก็คือรถยนต์ นั่นเอง และส่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดส่งไปยังระบบคลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลและแสดงผลในแอปพลิเคชันต่อไป

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ image-16.png
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการ
สาธิตการใช้งานเซนเซอร์จอดรถอัจฉริยะต่อสื่อมวลชน

โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบที่จอดรถประเภทนอกอาคารและในอาคาร จำนวน 555 ชุด ได้ใช้งานเต็มระบบเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยแยกการดำเนินงานออกเป็น เขต 2 เมืองใหญ่ ได้แก่

1) เขตเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ได้ติดตั้งระบบที่จอดรถยนต์อัจฉริยะประเภทนอกอาคาร (Outdoor Parking) จำนวนรวม 89 ชุด

ถนนในเทศบาลเมืองภูเก็ตที่ติดตั้งระบบจอดรถยนต์อัจฉริยะ

2) เขตเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตั้งระบบที่จอดรถยนต์อัจฉริยะ จำนวนรวม 466 ชุด โดยแยกเป็นระบบที่จอดรถยนต์อัจฉริยะประเภทนอกอาคาร (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และย่านนิมานเหมินทร์) จำนวน 230 ชุด และระบบที่จอดรถยนต์อัจฉริยะประเภทในอาคาร (โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม) จำนวน 236 ชุด

เซนเซอร์ตรวจับจุดจอดรถที่ติดตั้งบนพื้นถนนนิมมานเหมินทร์

จากการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการสามารถประเมินผลประหยัด ได้ดังนี้

1) ผลประหยัดด้านพลังงานเชื้อเพลิง ประเมินผลประหยัดตามประเภทของลานจอด 2 ประเภท ได้แก่

(1) ลานจอดประเภทนอกอาคาร (Outdoor Parking) ทำการประเมิน 3 ลานจอด ได้แก่ ลานจอดรถยนต์สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินีหรือลานจอดมังกร จ.ภูเก็ต, ถนนเยาวราช จ.ภูเก็ต, สนามกีฬากลาง ม.เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ จากการติดตั้งชุดสาธิตที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงก่อนและหลังเฉลี่ยต่อคัน 69.98, 67.38 ลบ.ซม./นาที ตามลำดับ และมีระยะเวลาของคนขับที่ใช้ในการหาที่จอดรถยนต์ก่อนและหลังเฉลี่ยต่อคัน 9.57, 7.71 นาที ตามลำดับ คิดเป็นการสิ้นเปลืองปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับหาช่องจอดก่อนและหลังเฉลี่ยต่อคัน 543.72, 450.69 ลบ.ซม. ตามลำดับ คิดเป็นผลประหยัดหลังจากติดตั้งชุดสาธิตที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ ร้อยละ 17.15

ถนนนิมมานเหมินทร์ที่ติดตั้งเซนเซอร์ห้ามจอด

2) ลานจอดประเภทในอาคาร (Indoor Parking) ได้แก่ ลานจอดรถยนต์ของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จ.เชียงใหม่ มีลานจอดจอดรถยนต์มากถึง 11 ลานจอด และมีช่องจอดรถยนต์ประเภทในอาคารรวมทั้งสิ้น จำนวน 236 ช่องจอด จากการติดตั้งชุดสาธิตที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงก่อนและหลังเฉลี่ยต่อคัน 103.11, 99.77 ลบ.ซม./นาที ตามลำดับ และมีระยะเวลาของคนขับที่ใช้ในการหาที่จอดรถยนต์ก่อนและหลังเฉลี่ยต่อคัน 11.00, 7.80 นาที ตามลำดับ คิดเป็นการสิ้นเปลืองปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับหาช่องจอดก่อนและหลังเฉลี่ยต่อคัน 1,134.16, 778.40 ลบ.ซม. ตามลำดับ คิดเป็นผลประหยัดหลังจากติดตั้งชุดสาธิตที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ ร้อยละ 31.37

ตู้ควบคุมระบบที่จอดรถยนต์ลานจอดรถ กาดสวนแก้ว
ลานจอดรถในอาคารกาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ ที่ติดตั้งระบบจอดรถยนต์อัจฉริยะ

2) ผลประหยัดด้านไฟฟ้า ดำเนินการทำมาตรการ 2 แห่ง ดังนี้

(1) ลานจอดรถยนต์สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี ทำมาตรการเปลี่ยนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟแอลอีดีและติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการทำงานของหลอดไฟ เกิดผลประหยัดร้อยละ 60 ระยะเวลาคืนทุน 1.5 ปี

(2) โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ทำมาตรการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการทำงานของหลอดไฟแอลอีดี เกิดผลประหยัดร้อยละ 16 ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1.2 ปี

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่