“ศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”ต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานจากขยะ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลแบบครบวงจร” เพื่อสนองตอบตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มุ่งเน้นให้มีระบบการบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เกิดการจัดการขยะที่ยั่งยืน โดยบูรณาการ 3 เทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ เทคโนโลยีการคัดแยกขยะ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับหมักย่อยร่วม และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในศูนย์ฯ และผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ (CBG) เพื่อใช้สำหรับระบบรถขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการวัสดุเหลือใช้ที่สมบูรณ์แบบ
สำหรับกระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจรของศูนย์ฯ นั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ รวบรวมขยะทั้งหมดจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ขยะที่รวบรวมมีปริมาณกว่า 20 ตัน จะผ่านกิจกรรมการคัดแยกขยะจากต้นทาง ซึ่งตัวระบบ จะเริ่มจากการรับขยะมูลฝอย (Receiving & Storage) ผ่านสู่ระบบลำเลียง (Belt Conveyer) แล้วนำมาฉีกถุงขยะ (Bag Breaking) จากนั้นขยะจะถูกแยกเอาวัสดุที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้และเป็นขยะมีมูลค่า (Reusable) เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก รวมถึงขยะพิษบางชนิด เช่น แบตเตอรี่ ออกจากสายพานลำเลียง ต่อจากนั้น ขยะจะถูกนำไปแยกเบื้องต้นเพื่อแยกเอาขยะอินทรีย์ออกจากขยะพลาสติกและโลหะด้วยระบบคัดแยกขยะเบื้องต้น (Primary Separator & Magnetic Separator) โดยขยะอินทรีย์ที่ได้จะถูกนำไปหมักย่อยในระบบก๊าซชีวภาพแบบหมักแห้ง สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละกว่า 900 ลูกบาศก์เมตร และนำไปปรับปรุงคุณภาพ สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์ฯ ได้ปริมาณ 5,200 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี และก๊าซชีวภาพส่วนหนึ่งถูกนำไปผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ เพื่อใช้ในระบบขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัย เฉลี่ยปีละ 18,000 กิโลกรัม/ปี โดยก๊าซชีวภาพส่วนเกินจะถูกเผาทิ้งด้วยชุดเผาทิ้งก๊าซชีวภาพอัตโนมัติ (Gas Flare) สำหรับขยะที่แยกได้ สามารถลดปริมาณการกำจัดขยะทิ้งแบบฝังกลบและแบบเผาได้ร้อยละ 85 เทียบเท่าปริมาณขยะที่ลดได้ 4,050 ตัน/ปี ลดปริมาณการฝังกลบขยะเปียกและเศษอาหารได้ 500 ตัน/ปี และลดปริมาณการฝังกลบกากไขมันได้ 125 ตัน/ปี โดยขยะพลาสติกที่แยกได้ ทั้งจากการคัดแยกเบื้องต้นและจากการคัดแยกภายหลังจากการหมักย่อยแล้ว วันละกว่า 1 ตัน สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF, Refuse Derived Fuel) เพื่อนำไปส่งขายให้กับผู้ใช้ที่มีเตาเผา RDF ได้อีกด้วย นอกจากนี้กากขยะอินทรีย์วันละกว่า 5 ตัน ยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อใช้บำรุงดินได้โดยตรง และอีกกว่า 2 ตัน จะถูกนำไปปรับปรุงเป็นปุ๋ยแห้งหรือปุ๋ยอัดเม็ด เพื่อการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ฯ ทั้งหมดทุกกระบวนการสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้รวมมากกว่า 10,900 ตันคาร์บอน/ปี
“ศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลแบบครบวงจร” จึงเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการขยะให้กับหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบุคคลผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ ศึกษาวิธีการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะ เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าและก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ของกระทรวงพลังงาน ที่กำลังผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอยู่ในขณะนี้