โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจาก   พืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจาก พืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์

โดย พิชัย ถิ่นสันสติสุข www.greennetworkthailand.com

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงพลังงาน โหมกระพือแย่งพื้นที่สื่อมากว่าครึ่งปี แม้แต่ฝุ่น PM 2.5 อาหารจานโปรดของสื่อทั้งหลายก็ยังไม่อาจกลบข่าวโรงไฟฟ้าชุมชนลงได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของปากท้อง เป็นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนตลอด 365 วัน ไม่ใช่ปัญหาปีละ 3-4 เดือน เหมือนฝุ่นพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น

โรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีคนกล่าวขานว่า 100 ปี มี 1 ครั้งนั้น ได้มุ่งแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ของกระทรวงที่สร้างไว้หลายยุคหลายสมัย เป็นบาดแผลลึกที่รอการเยียวยามากว่า 10 ปี เศรษฐกิจของประเทศเสียหายเกินคณานับ โครงการพลังงานทดแทนเหล่านั้นได้มีโอกาสแจ้งเกิดอีกครั้งในโครงการ Quick Win ซึ่งมีทั้งโครงการชีวมวลและก๊าซชีวภาพ สำหรับโครงการใหม่ของโรงไฟฟ้าชุมชน พอจะสรุปแยกเชื้อเพลิงออกได้ 3 ส่วน คือ

  1. จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ทั้งทะลายปาล์มเปล่า (EFB) น้ำเสียจากโรงงานหีบปาล์ม กลุ่มนี้ค่อนข้างมีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง และมีความสามารถในการลงทุนเอง
  2. กลุ่มชีวมวล (BIOMASS) ซึ่งมีความหลากหลายของแหล่งที่มาของเชื้อเพลิง อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากมายที่ต้องการเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งไม่รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับใบอนุญาตขายไฟ (PPA) แล้วและกำลังก่อสร้างอยู่อีกหลายร้อยเมกะวัตต์ ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการจึงมีทั้งที่มีเชื้อเพลิงอยู่จริง และจะปลูกขึ้นใหม่จริง ๆ และผู้ที่เข้าร่วมเพื่อเพิ่มความมั่นคงของราคาเชื้อเพลิง รวมทั้งผู้ที่ไม่ต้องการพลาดรถไฟสายเศรษฐกิจฐานราก จึงเจียดเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งมาเข้าร่วมโครงการ ความเห็นผู้เขียนก็คือ ชีวมวลไทย ได้เวลาปลูกเพิ่มแล้ว ราคาหน้าสวนป่าประมาณตันละ 650-700 บาทต่อตัน ส่วนราคาที่โรงไฟฟ้ารับได้ไม่น่าจะเกินตันละ 950 บาท ลองพิจารณากันดู ถือว่าโยนหินถามทางก็แล้วกัน
  3. กลุ่มก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่กระทรวงพลังงานมุ่งมั่น และวางยุทธศาสตร์ ใช้การตลาดนำภาคเกษตรกรรม โดยผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์จะมีตลาดตามสัญญากับภาครัฐถึง 20 ปี ในราคาที่ตกลงกับโรงไฟฟ้า ซึ่งชุมชนมีส่วนเป็นเจ้าของถึง 10% ตามสัญญาเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)
การปลูกหญ้าเนเปียร์ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

หญ้าเนเปียร์จะสามารถพลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้เขียวขจีได้จริงหรือ … ?

คงต้องมาแยกแยะเป็นรายจังหวัด และ พื้นที่ที่แตกต่างกันหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี บ้างก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้างก็เป็นเมืองชายแดน มีการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับภาคอีสานตอนกลางหลายจังหวัด หลายอำเภอที่ไม่ได้ปลูกอ้อยหรือ ปลูกยางพารา อีกทั้งปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลังก็ยังไม่ได้ผลดี ในส่วนนี้ควรส่งเสริมให้มีการปลูกหญ้าเนเปียร์ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำจะเหมาะสมอย่างมาก

คงไม่มีพืชล้มลุกชนิดใดที่ไม่ต้องการทั้งน้ำทั้งปุ๋ยในการเจริญเติบโต “เนเปียร์” ก็เช่นกัน ถ้ามีความอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำทั้งปุ๋ย ผลผลิตก็จะดีขึ้น ขอยกตัวอย่างหญ้าเนเปียร์ที่กรมปศุสัตว์พัฒนาพันธุ์แล้วให้ผลผลิต ดังนี้

ผลผลิตพันธุ์ปากช่อง 1 หากมีการดูแลครบถ้วน สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 5-6 ครั้ง ให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 70-80 ตันต่อไร่ต่อปี และหากมีการรักษาตอให้ดีก็จะสามารถใช้ตอเดิมได้โดยผลผลิตไม่ลดลง (ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)

หญ้าเนเปียร์พลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้เขียวขจี

ผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพหญ้าเนเปียร์

ผลกระทบในภาพกว้าง

  1. เปลี่ยนกระบวนการคิดในการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในมือของกลุ่มทุนสู่การแบ่งปันสู่ชุมชนและอาจเป็นแม่แบบแห่งความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศในอนาคต
  2. เกิดการประกันรายได้สินค้าเกษตรระยะยาว เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ภาคเกษตรกรรม
  3. การปลูกหญ้าเนเปียร์ที่มากเพียงพอ เช่น 200,000 ไร่ (สำหรับผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์) จะช่วยพลิกพื้นดินแห้งแล้งภาคอีสานบางส่วนให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว มีความชุ่มชื้นอย่างยั่งยืนตลอดอายุสัมปทาน 20 ปี

ผลพลอยได้

  1. เกิดอาชีพต่อเนื่องจากการปลูกหญ้าเนเปียร์ เช่น การเลี้ยงวัว และ เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ
  2. การปลูกพืชเสริม เช่น ทุเรียน กาแฟ และผลไม้ต่าง ๆ อันได้จากความชุ่มชื้นของพื้นดิน และปุ๋ย ที่มาจากของเหลือใช้ในโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ
  3. มีการจ้างงานเพิ่มทั้งด้านการปลูก เก็บเกี่ยว และในโรงไฟฟ้า
  4. มีการพัฒนาเทคโนโลยีการหมักก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน และการพัฒนาพันธุ์หญ้าเนเปียร์ รวมทั้งเทคนิคการปลูกหญ้าเนเปียร์
เชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพหญ้าเนเปียร์

โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์ อาจไม่ง่ายและเบ็ดเสร็จเหมือนโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้ลงทุนและชุมชนยังมีพันธกิจร่วมกันตลอดระยะเวลาอันยาวนานของโครงการในการร่วมจัดการระบบฟาร์มที่จะปลูกหญ้าให้ได้ผลผลิตสูงสุดด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้โรงไฟฟ้าชุมชนจากเนเปียร์จึงไม่เหมาะกับภาคเอกชนที่ต้องการสร้างผลกำไรแบบให้เงินช่วยทำงานแทนเหมือนพลังงานทดแทนอื่น ๆ

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ เป็นนโยบายแบบ BIG ROCK ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคนอีสานอย่างมีนัยสำคัญ อีสานจะเขียวได้ตามแผนที่กระทรวงพลังงานคาดหวังหรือไม่ ชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ เอกชนที่เข้าร่วมลงทุน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือร่วมใจ สู่เป้าหมายเดียวกัน คือให้คนอีสานกินดีอยู่ดีขึ้น …

หมู่เฮาสุผู้สุคนกะขอซำนี้ละ กะพอได้อยู่ได้กินแล้วเด้อพีน้องงง

เรื่องที่น่าสนใจ

สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.พะเยา ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มช.

สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.พะเยา ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มช.

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการชีวมวลครบวงจร

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการชีวมวลครบวงจร

คณะดูงานจากสาขาวิชาวิทยาศาตร์สิ่งแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และThompson Rivers Unversity ประเทศแคนาดา ศึกษาดูงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะดูงานจากสาขาวิชาวิทยาศาตร์สิ่งแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และThompson Rivers Unversity ประเทศแคนาดา ศึกษาดูงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.)และเจ้าหน้าที่กองทุน ศึกษาดูงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.)และเจ้าหน้าที่กองทุน ศึกษาดูงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่