ขยะจากโควิด-19
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่รัฐบาลมีมาตรการจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดร้านค้าและบริการทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น และสนับสนุนการทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสั่งซื้ออาหารการกินสารพัดเมนูผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA ถือเป็นผลพลอยได้ให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มีการเติบโตมากขึ้นเป็นเท่าตัว สวนทางภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ
แต่ปัญหาที่ตามมาพร้อมบริการส่งอาหารถึงบ้าน นั่นคือ ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งกล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูป ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม และถุงพลาสติกใส่อาหาร รวมถึงขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งเป็นขยะอันตราย
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถานบันสิ่งแวดล้อมไทย (ภาพยืน)
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาขยะหลายประเภทเพิ่มขึ้น โดยมีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มขยะจากการส่งอาหารออนไลน์ ผลจากมาตรการควบคุมโรค ทำให้ประชาชนอยู่บ้าน เลี่ยงการเดินทาง และไปจับจ่ายสินค้าตามตลาดนัด ซึ่งประชาชนให้วิธีสั่งอาหารให้พนักงานมาส่งที่บ้าน แทนการนั่งกินที่ร้าน ทำให้ปริมาณขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15-20% ประกอบด้วยถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม ไม้จิ้ม
นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารหรือขยะเปียดถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เศษอาหารเดลิเวอรี่ ยังมีการปรุงอาหารที่บ้านด้วย และที่เป็นปัญหามาก คือ ขยะกลุ่มหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ถุงมือทางการแพทย์ ถือเป็นขยะติดเชื้อ เดิมขยะอันตรายเกิดในโรงพยาบาล ปกติขยะกลุ่มนี้โรงพยาบาลส่งไปทำลายที่เตาเผาอุณหภูมิสูงที่มีมาตรฐาน แต่ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ประชาชนใช้หน้ากากทุกวัน ทิ้งทุกวัน ถือเป็นขยะติดเชื้อเช่นกัน
หน้ากากอนามัย จำนวนมากใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง กลายเป็นขยะติดเชื้อ
“ ถ้าพลเมืองทั้งประเทศ 70 ล้านคน ใช้หน้ากากอนามัยประมาณ 40 ล้านคน สร้างขยะเฉลี่ย 20 ล้านชิ้นต่อวัน เพราะบางคนอาจใช้ซ้ำ ขยะหน้ากากที่ผ่านการใช้งานแล้ว ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง สิ่งสกปรกต่างๆ หรือแม้กระทั่งมีเชื้อโควิด-19 ต้องทิ้งอย่างระมัดระวัง ผมไม่เห็นด้วยที่มีข้อแนะนำให้พับหน้ากากก่อนทิ้ง เพราะเป็นการสัมผัสกับเชื้อโรค ทุกวันนี้ทิ้งปนกับขยะธรรมดา สร้างปัญหากับพนักงานเก็บขยะ กลุ่มคนเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และอาจกลายเป็นคนแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้าง หากไม่ดูแลจะสร้างผลกระทบตามมา ที่ฮ่องกงก็เกิดปัญหา หน้ากาก ถุงมือทิ้งเกลื่อนกลาด บางส่วนไปโผล่ในทะเล หน้ากากเหล่านี้ย่อยสลายยาก ก่อปัญหาระบบนิเวศ ทุกวันนี้ยังไม่มีระบบรองรับกับขยะพวกนี้ “ ดร.วิจารย์ กล่าว
ถังขยะที่รับทิ้งขยะติดเชื้อ แต่อาจไม่เพียงพอกับปริมาณขยะในช่วงนี้
ในสถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่ยุติ ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันติดเชื้อโควิด ต้องมีวิธีจัดการอย่างถูกต้อง ดร.วิจารย์ กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านช่วยแยกขยะติดเชื้อใส่ถุงพลาสติกใช้แล้วที่สามารถมองเห็นขยะด้านในได้ และกำหนดวันที่พนักงานจะมาเก็บขยะอันตราย ปกติจะเก็บทุกวันพุธ แต่สถานการณ์ปัจจุบันควรจะเพิ่มจัดเก็บขยะอันตรายวันเว้นวันตามบ้านเรือน ตลาด เพื่อนำไปทำลายต่อไป ซึ่ง กทม. มีเตาเผาขยะติดเชื้ออยู่แล้ว แต่จะรวบรวมอย่างไร ส่วนในต่างจังหวัดหรือชุมชนชนบท ถ้าไม่รอรัฐ ผู้นำชุมชนควรมีบทบาทสร้างระบบเก็บขยะขึ้นเองได้ โดยคนเก็บขยะติดเชื้อต้องป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ใส่ถุงมือให้ถูกหลักอนามัย โดยขอคำแนะนำการปฏิบัติจากโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล หรือ รพ.สต. เพื่อให้คนเก็บขยะเหล่านี้ปลอดภัย อีกแนวทางรัฐบาลนอกจากแจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์แล้ว ต้องแจกถุงพลาสติกสีแดงสำหรับใส่ขยะหน้ากากอนามัย หากสร้างระบบจัดการขยะติดเชื้อให้ประชาชนมั่นใจ ขยะกลุ่มนี้จะจัดการอย่างถูกต้อง ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ
ธุรกิจ รับส่งอาหารเฟื่องฟูสุดขีด สะท้อนคนสั่งอาหารมากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง Locked Down กรุงเทพ ฯ
สำหรับแนวทางลดขยะจากอาหารเดลิเวอรี่ ทำได้หลายวิธี ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ทางร้านอาหารที่ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีไม่ควรบริการช้อนส้อมพลาสติกให้ลูกค้า จะเป็นการเพิ่มขยะพลาสติกโดยไม่จำเป็น เพราะที่บ้านก็มีช้อนตัวเองอยู่แล้ว ในระยะต่อไปต้องมองระบบจัดการขยะอาหารเดลิเวอรี่ เพราะธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สร้างขยะต่อวันมากขึ้น ผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความสะดวกสบายและอยู่กับโลกออนไลน์ หลังวิกฤตโควิดต้องมาหาแนวทางร่วมกัน นอกจากส่งอาหารแล้ว ต้องรับคืนบรรจุภัณฑ์ด้วย นี่คือ โอกาสลดขยะพลาสติก รวมถึงร้านควรปรับเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนขยะเศษอาหารก็สามารถนำไปหมัก ทำปุ๋ยชั้นดี ใช้เป็นสารบำรุงดิน นี่คือ การเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ แต่จะเป็นมาตรการบังคับหรือสมัครใจ โจทย์นี้ต้องช่วยกันคิดต่อ
“ ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น แต่ขยะได้รับการจัดการอย่างถูกต้องมีเพียง 50% โครงการเตาเผาขยะก็มีเสียงต่อต้าน ขณะที่การทำหลุมฝังกลบต้องใช้พื้นที่เยอะ ขณะที่ท้องถิ่นมีขนาดเล็กและปริมาณขยะน้อย แนวทางโรงไฟฟ้ากำจัดขยะเป็นอีกทางเลือก ท้องถิ่นไม่ต้องทำ แต่ให้เอกชนลงทุน ภายใต้กำกับดูแลของภาครัฐ จะเกิดประโยชน์และทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อนบ้านของเรามีระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ทั้งสิงค์โปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ทำมานานแล้ว แต่ประเทศไทยยังก้าวไม่ข้ามเสียที ขยะจากโควิดเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างระบบให้มีประสิทธิภาพ แต่อานิสงส์ทำให้คุณภาพอากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น เพราะคนอยู่บ้าน ใช้รถน้อยลง การจราจรเบาบาง และตัวเลขปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงด้วย “ ดร.วิจารย์ กล่าว
ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลจัดการ, ควบคุม, ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดมลพิษ ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขยะที่เกิดจากหน้ากากใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและแก้ปัญหาขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว สำหรับประชาชนทั่วไปให้รวบรวมถุงขยะที่มีหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วแยกออกจากถุงขยะอื่นๆ พร้อมระบุข้อความบนถุงขยะว่า “หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ให้เห็นได้อย่างชัดเจน จากนั้นส่งให้กรุงเทพมหานครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการต่อไป
ส่วนข้อแนะนำสำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชน สถานประกอบการ อาคารชุด จะต้องจัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และติดสัญลักษณ์รูปภาพข้อความที่สื่อถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ควรวางไว้ในจุดรวบรวมที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และไม่ควรมีจุดรวบรวมเกิน 2 จุด สิ่งที่ทำควบคู่กันคือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในองค์กรอย่างต่อเนื่อง แสดงแผนผังหรือรูปภาพ แสดงวิธีการที่ถูกต้องไว้บริเวณที่ตั้งถังขยะ จากนั้นรวบรวมโดยแยกทิ้งจากขยะอื่นๆ เพื่อส่งให้ กทม. หรือ อปท. หรือส่งให้สถานที่กำจัดเอกชนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี การทิ้งถูกที่ กำจัดถกทาง จะช่วยลดปัญหาขยะ และป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สร้างความปลอดภัยต่อตนเองและส่วนรวม
อาหารสำเร็จรูป ที่บรรจุกล่องโฟม เป็นที่ต้องการ ในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
วิธีช่วยลดขยะพลาสติก ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 อธิบดี คพ. ให้คำแนะนำว่า ในช่วงเก็บตัวอยู่บ้าน หากไม่มีครัว สั่งแบบเดลิเวรี่ อย่าลืมแจ้งทางร้านหรือคนขับของแอพต่างๆ ที่ให้บริการว่า ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกทุกครั้งด้วย เพื่อช่วยกันลดขยะพลาสติก และใช้ช้อนตัวเอง ที่ล้างทำความสะอาดด้วยตัวเอง มั่นใจต่อสุขภาพอนามัยมากขึ้น เพราะการสั่งเดลิเวอรี่แต่ละละครั้ง สร้างหลายชิ้น ในส่วนร้านอาหารควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควรบริโภคอาหารแบบแพ็คห่อพอประมาณ ลดการสร้างขยะพลาสติก ช่วงกักตัวหากสามารถทำอาหารทานเองได้ควรทำให้บ่อยขึ้นแทนการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และการซื้อสินค้าอาหาร ควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนซื้อ และซื้อไว้ในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Food waste หรือขยะอาหาร หากช่วยกันปฏิบัติแนวทางนี้จะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันและมีส่วนบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ
โดย thaipost.net | https://www.thaipost.net/main/detail/63072