พัฒนาการด้านมาตรฐาน        ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย

พัฒนาการด้านมาตรฐาน ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีการใช้งานระบบเซลล์แสงอาทิตย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 40 ปี ก่อนปี พ.ศ. 2548 ปริมาณติดตั้งใช้งานสะสมราว 6 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (อ้างอิงข้อมูล สนพ.) กำหนดเป้าหมายปริมาณกำลังผลิตตามสัญญาสะสม 10 กิกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 ทั้งนี้กำลังผลิตติดตั้งสะสมราว 3 กิกะวัตต์ (ข้อมูล พพ. จนถึง พ.ศ.2561) ทิศทางเดียวกับทั่วโลกตามรายงานของ International Energy Agency (IEA-PVPS) ปริมาณการติดตั้งสะสมทั่วโลก 512.3 กิกะวัตต์ (ค.ศ.2018) เป็นสิ่งบ่งบอกถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย โดยรวมในช่วง 30 ปี มีการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 1.6 พันเท่า ทั้งนี้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยก็มีพัฒนาการไปตามการเติบโตของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเซลล์หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ งานวิศวกรรมการออกแบบติดตั้งและการบำรุงรักษา การตลาดและด้านการเงินการลงทุน ต้องมีการปรับตัวทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้ทันและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กำลังการผลิตระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2551 – 2561
กำลังการผลิตระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2551 – 2561 ที่มา รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย ปี 2561 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

ทางด้านมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ก็เช่นเดียวกัน กระแสการเปลี่ยนแปลงของข้อกำหนดมาตรฐานระดับสากลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเทคโนโลยี การขยายตัวมากและการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและการใช้งาน รวมถึงประสบการณ์การใช้ยาวนานขึ้น ในอดีตระบบเซลล์แสงอาทิตย์มีการกำหนดมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติโดยหลากหลายหน่วยงานหลายประเทศ เช่น CENELEC (กลุ่มประเทศยุโรป) ANSI หรือ IEEE หรือ ASTM หรือ UL (สหรัฐอเมริกา) หรือ AS (ออสเตรเลีย) จนต่อมามีความพยายามร่วมกันให้มีการใช้มาตรฐานร่วมกัน หรือเรียกว่า Standard Harmonization เป็นมาตรฐาน IEC (International Electrotechnical Commission) ที่มีสมาชิกเป็นผู้แทนประเทศซึ่งประเทศไทยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสมาชิก จนปัจจุบันมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์อื่น ก็ยกเลิกและประกาศเป็นมาตรฐานร่วม เช่น ยกเลิก UL1703 ใช้ UL/IEC61730 แทน ทั้งนี้ประเทศสมาชิกต่างนำไปประกาศใช้เป็นมาตรฐานระดับชาติในระดับเหมือนกันทุกประการ (identical) เช่น JIS (ญี่ปุ่น) รวมถึง มอก. ของไทยด้วย

ห้องปฏิบัติการมาตรฐานอุปกรณ์ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย
ห้องปฏิบัติการมาตรฐานอุปกรณ์ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย

สำหรับพัฒนาการด้านมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย เริ่มมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อนปี 2530 และต่อมากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช. หรือ สนพ. ในปัจจุบัน) ให้การสนับสนุน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำร่างมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศใช้ มอก.1843-2542 และหลังจาก สมอ. แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ คณะที่ 1016 เมื่อปี 2549 ก็มีการทบทวนและประกาศใช้มาตรฐาน มอก. อีกหลายฉบับ รวมถึงการมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดมาตรฐาน IEC ในคณะกรรมการวิชาการ (IEC/TC82) ด้วย

solar rooftop

ด้วยการสนับสนุนของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับการลงทุนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (CSSC) ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มจธ.ให้การสนับสนุนบุคลากรและลงทุนอาคาร ตั้งแต่ปี 2548 จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถทดสอบรับรองแบบ (Type Approve Test) ครบทุกหัวข้อตาม IEC61215 และ IEC61646 มาตรฐานแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตามการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ ISO/IEC17025:2005 เมื่อปี 2555 และยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO9001:2008 และ ISO9001:2015 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ทาง พพ. และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในระยะต่อมา เพื่อให้ประเทศไทยคงความเป็นมาตรฐานและก้าวทันที่ต่อพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานที่รวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงมาตรฐานอินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อการใช้งานแผงเซลล์แสงอาทิตย์อีกด้วย

ระบบเซลล์แสงอาทิตย์

Source: คอลัมน์ Green Article โดย เยาวณี แสงพงศานนท์ และ ดร.ธีรยุทธ์ เจนวิทยา ศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (CSSC) สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

เรื่องที่น่าสนใจ

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

รู้ไว้ไม่เสียหาย เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้หลอด LED

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

การลดการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร

กิจกรรมลดคาร์บอน

กิจกรรมลดคาร์บอน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

ใช้พัดลมอย่างไรให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่