โครงการติดตามดูแลสิ่งแวดล้อม อ่างแก้ว มช. 

โครงการติดตามดูแลสิ่งแวดล้อม อ่างแก้ว มช. 

จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและสาหร่ายในอ่างแก้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน พบว่าเมื่อพิจารณาคุณภาพน้ำจากการแบ่งประเภทแหล่งน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน อ่างแก้วจัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 3 สามารถเป็นประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน และใช้ในการเกษตรได้ แม้ว่าอ่างแก้วจะพบการปรากฏของไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) ที่สร้างสารพิษได้เป็นระยะๆ แต่เมื่อตรวจสอบปริมาณสารพิษไมโครซิสติน (microcystins) ซึ่งสร้างโดยไซยาโนแบคทีเรียดังกล่าว พบว่าน้ำจากอ่างแก้วที่ผ่านระบบการผลิตน้ำประปา ตรวจไม่พบสารพิษไมโครซินติน (not detectable) ซึ่งตามค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกได้ระบุไว้ว่า น้ำดื่มเพื่อการบริโภคควรมีค่าสารพิษไมโครซิสตินไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร

เมื่ออ่างแก้วเผชิญกับปรากฏการณ์สาหร่ายเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก

อ่างแก้วในปัจจุบัน เผชิญกับปรากฏการณ์สาหร่ายเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำอ่างแก้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว และส่งผลต่อทัศนียภาพอันสวยงาม การเจริญเติบโตของสาหร่ายจำนวนมากในน้ำอ่างแก้วเกิดจากปริมาณธาตุอาหาร (ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส) ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วของแหล่งน้ำ เนื่องจากการรับน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่อ่างแก้ว จนทำให้เกิดสภาวะยูโทรฟิเคชั่น อาจส่งผลให้สัตว์น้ำลอยตายเป็นจำนวนมากจากการขาดออกซิเจน

นอกจากนี้การอพยพย้ายถิ่นของนกแขวก ในช่วงฤดูฝน เพื่อวางไข่และอนุบาลลูกนกเป็นจำนวนมาก และเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ยังอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีธาตุอาหารจากสิ่งขับถ่ายเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอ่างแก้ว อย่างไรก็ดีการมีประชากรนกแขวกถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ทั้งยังก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่ประเมินค่ามิได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และต้องการรักษาระบบนิเวศนี้ไว้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในอ่างแก้ว

นกแขวก ณ อ่างแก้ว

หลายๆ คนที่ชอบมาเดินเล่น  อ่างแก้วตอนเย็นๆ จะสังเกตเห็น นกขนาดใหญ่บินไปมาเป็นฝูง

หลายคน อาจอยากทราบ มันคือนกอะไร ทำไมมาอยู่ตรงนี้ แล้วทำไมใกล้มืดค่ำแล้ว แทนที่จะหลับนอน

นกพวกนี้กลับดูกระปรี่กระเปร่า สบายปีก ออกบินกัน ขวักไขว่ ยิ่งใกล้มืด ยิ่งออกมาบินกัน เป็นจำนวนมาก

นกนี้คือ นกแขวก หรือ Black-crowned Night Heron ชื่อ แขวก ก็มาจากเสียงร้อง แขวกๆๆ ของมันนั่นเอง

นกแขวกสามารถพบได้ทั่วโลก ยกเว้น ทวีปออสเตรเลีย กับแอนตาร์คติกา

นกแขวกเป็นนกกลุ่มนกยาง (heron) ที่วิวัฒนาการ หันมาใช้ชีวิตกลางคืน การออกหากินกลางคืน

พวกมันออกไปหากินในพื้นที่ชุมน้ำรอบชานเมืองเชียงใหม่ พอใกล้ฟ้าสาง ก็ชวนพวกมันออกไปหากิน

ในพื้นที่ชุ่มน้ำรอบชานเมืองเชียงใหม่ พอใกล้ฟ้าสาง ก็ชวนกันบินกลับมาพักนอน

ที่เกาะเล็ก 2 เกาะ กลางอ่างแก้ว

เมื่อ 10 กว่าปีก่อนนี้ ยังมีจำนวนไม่มาก

แต่วันนี้พวกมันชวนกันมารวมฝูงพักนอนที่อ่างแก้วนับพันตัว

จนตอนนี้ กิ่งไม้ว่างให้เกาะพัก แทบไม่มีเหลือ ต้องแก่งแย่งกัน

มาอยู่ร่วมกันมากมายแบบนี้ ปัญหาก็ตามมา

มูลนก ทำให้มีแร่ธาตุไนโตรเจนจำนวนมากไหลทะลักลงอ่างแก้ว

ทำให้สาหร่ายเซลเดียวเติบโตสะพรั่ง (algae bloom) จนมีผลต่อคุณภาพน้ำ

ทาง มช. กำลังเร่งหาทางออก ที่จะป้องกันปัญหานี้ โดยไม่กระทบกับนก

เพราะการรวมฝูงนกแขวก นับพันตัว กลางมหาวิทยาลัยนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าภูมิใจ

เป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งในแง่กายภาพและคุณธรรม

นกแขวกไว้ใจ และเลือกที่อยู่กับพวกเรา พวกมันหวังมาพึ่งพิงความปลอดภัย

เลี้ยงลูก สืบพันธ์ ภายในรั่วมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ผลกระทบจากปัญหาปริมาณสาหร่ายที่เพิ่มขึ้นในอ่างแก้ว

นอกจากสีที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วสาหร่ายปริมาณมากในอ่างแก้วยังส่งกระทบโดยตรงต่อการจัดการน้ำภายในมหาวิทยาลัยเนื่องจากอ่างแก้วเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาให้กับนักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณภาพของแหล่งน้ำดิบที่ด้อยลง (มีปริมาณสารอินทรีย์จากสาหร่ายจำนวนมาก) ทำให้เป็นอันตรายต่อระบบการผลิตน้ำประปา โดยสารอินทรีย์จะสามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีนในกระบวนการฆ่าเชื้อโรคเกิดเป็นสารประกอบกลุ่มไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethanes, THMs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง การกำจัดสาหร่ายออกจากระบบผลิตน้ำประปาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการควบคุมคุณภาพน้ำประปา

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยมียุทธศาสตร์ที่ 1 เชิงรุก : นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่สำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยกำหนดเป้าหมายในการเป็นผู้นำการสร้าง การจัดการ สร้างเสริมสมรรถนะและแบ่งปันด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน นำไปสู่การออกแบบ “แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City-Clean Energy)” โดยหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกโจทย์หนึ่ง ก็คือ การลดปริมาณสาหร่ายในอ่างแก้ว

โครงการเพื่อลดปริมาณสาหร่ายในอ่างแก้ว

โครงการเพื่อเร่งฟื้นฟูและลดปริมาณสาหร่ายในอ่างแก้ว คืนทัศนียภาพที่สวยงาม และน้ำสะอาดเพื่อนักศึกษา

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU), คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์ 3หน่วยงาน กับโครงการ เพื่อลดการเจริญเติบโตของสาหร่ายจำนวนมากในน้ำอ่างแก้ว

โครงการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ชายขอบอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความรู้ในด้านการบำบัดน้ำด้วยพืชกำลังเติบโต และการประยุกต์ใช้ระบบนิเวศของอ่างแก้วเพื่อการบำบัดยังมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์และบริบทของบริเวณโดยรอบ จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและพัฒนาข้อมูลด้านพื้นที่รอบบริเวณอ่างแก้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการออกแบบและประยุกต์ใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวเพื่อการบำบัดน้ำและลดอัตราการเกิดปรากฎการณ์สาหร่ายสะพรั่งต่อไปในอนาคต

โครงการควบคุมไซยาโนแบคทีเรีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและภูมิทัศน์ของอ่างแก้ว

การกำจัดไซยาโนแบคทีเรียด้วยวิธีการทางกายภาพ และเคมี สามารถกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มักจะทำให้เซลล์ของไซยาโนแบคทีเรียแตกออก และปลดปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่อไป นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง และอาจส่งผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อมได้ จึงได้เลือกวิธีการทางชีวภาพมาใช้ควบคุมไซยาโนแบคทีเรีย จุลินทรีย์หลายชนิดสามารถควบคุมการเจริญและกำจัดสารพิษจากไซยาโนแบคทีเรียได้ ซึ่งวิธีการนี้มีประสิทธิภาพสูง

โครงการลดปริมาณสาหร่ายด้วยสารส้มเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและทัศนียภาพของอ่างแก้ว

สีที่เปลี่ยนแปลงไปจากสาหร่ายปริมาณมากในอ่างแก้วยังส่งกระทบโดยตรงต่อการจัดการน้ำภายในมหาวิทยาลัยเนื่องจากอ่างแก้วเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาให้กับนักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณภาพของแหล่งน้ำดิบที่ด้อยลง (มีปริมาณสารอินทรีย์จากสาหร่ายจำนวนมาก) อาจเป็นอันตรายต่อระบบการผลิตน้ำประปา ดังนั้นการกำจัดสาหร่ายออกจากระบบผลิตน้ำประปาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการควบคุมคุณภาพน้ำประปา ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU) ได้ดำเนินการวิจัยโดยใช้สารส้มในการตกตะกอนเซลล์สาหร่าย

เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่