มช. ลงนามความร่วมมือ อบจ. เชียงใหม่ พัฒนาถนนพลาสติก มุ่งขยายสู่พื้นที่จริงในวงกว้าง
“ถนนต้นแบบจากขยะพลาสติกที่เหลือจากโรงคัดแยกขยะ” โครงการวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มมูลค่าให้แก่การแปลงสภาพของขยะพลาสติก หนึ่งในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้ความสำคัญแก่การคัดแยกขยะเป็นต้นทางการบริหารจัดการขยะที่สำคัญ สู่การเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะ สามารถจัดการขยะด้วยตัวเอง 100 % หรือ Zero Waste ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ล่าสุดได้ขยายผลสู่การพัฒนาข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในวัสดุผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต
.
ผลของการศึกษาวิจัยอันได้มาซึ่งถนนต้นแบบที่ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรงและความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ปราศจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เล็งเห็นว่า องค์ความรู้ดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ในวงกว้าง จึงเกิดเป็นความร่วมมือการต่อยอดองค์ความรู้ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต สำหรับการก่อสร้างทาง โดยการทดลองในห้องปฏิบัติการและทดสอบจริงในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และพัฒนาให้เป็นมาตรฐาน เพื่อสามารถนำมาใช้งานได้ อันเป็นการสร้างการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
.
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มีความยินดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญถึงปัญหาการจัดการขยะพลาสติก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนในด้านวิชาการและทำงานร่วมกัน เพื่อจะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป
.
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ วัน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างมีระบบ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอีก นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยปราศจากของเสีย (zero waste) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สามารถช่วยลดขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าให้กับพลาสติกใช้แล้ว ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เสริมสร้างชุมชนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล ในเรื่อง BCG (Bio Circular Green Economy)
.
เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดเป็นวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กรแสดงให้เห็นถึงความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งต่อองค์ความรู้ สู่การพัฒนาทั้งในระดับชุมชน ประเทศ ไปจนถึงระดับโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม